น.สพ.บุญญกรช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ซากหมูที่ตรวจยึดได้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้นั้น พบว่าซากสัตว์ดังกล่าวมาจากประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจรับรองแหล่งผลิตซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ หรือมาจากประเทศที่กรมปศุสัตว์มีประกาศชะลอการนำเข้าซากสุกรเนื่องจากประเทศต้นทางมีการระบาดของโรคระบาดสัตว์ และบางส่วนไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน ถือว่าซากสัตว์ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาดสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้

น.สพ.บุญญกรช กล่าวอีกว่า กรมปศุสัตว์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าประเภทสุกรมีชีวิตหรือซากสุกร ที่นำเข้าทางสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้การป้องกันและปราบปราม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความพร้อมที่จะรับของกลางไปทำลายเมื่อดีเอสไอตรวจสอบเอกสารหลักฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตรวจเอกสารหลักฐานของแต่ละตู้ คาดว่าจะใช้เวลาตรวจตู้ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2 สัปดาห์ และเมื่อดีเอสไอตรวจสอบตู้สินค้าดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องหมูเถื่อนที่กำลังเป็นข่าวจุดเริ่มมาจากเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2565 กรมศุลกากรประสานขอให้ช่วยเข้าไปตรวจสอบเนื้อวัวนำเข้าผิดกฎหมายจากต่างประเทศ จำนวน 159 ตู้คอนเทรนเนอร์ น้ำหนักประมาณ 4.5 ล้านตัน มูลค่า 4 ล้านบาท จากนั้นกรมศุลกากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อตำรวจมาตรวจพบว่ามูลค่าความผิดสูงเกินกว่าอำนาจ จึงส่งเรื่องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เมื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้มาทยอยเปิดตู้เพื่อตรวจสอบ ซึ่งภายในวันที่ 14 ก.ค. จะแล้วเสร็จ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทำลายของกรมปศุสัตว์ตู้ละ 20,000-30,000 บาท แต่ทางกรมปศุสัตว์แจ้งว่าไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ กรมศุลกากรจึงประสานไปยังตัวแทนเรือ ในการออกค่าใช้จ่ายในการทำลาย เบื้องต้นมีตัวแทนยอมจ่ายส่วนนี้แล้ว 70 กว่าตู้ ส่วนที่เหลือ จะมีการพูดคุยกันในวันที่ 13 ก.ค.นี้ คิดว่าตัวแทนเรือคงจะยอมจ่ายค่าทำลายทั้งหมดเพราะจะได้นำตู้คอนเทรนเนอร์ไปใช้งาน ซึ่งคุ้มกว่าที่จะถูกยึดตู้คอนเทรนเนอร์ไว้ เนื่องจากจะต้องเสียค่าบริการวันละ 1,500 บาท แยกเป็นค่าไฟวันละ 700 บาท ค่าพื้นที่วันละ 800 บาท ต่อตู้

สายกินหมูช็อก! แฉหมูเถื่อนทะลักนับพันตู้ จี้ตรวจสอบย้อนหลังปี 2564

ส่วนขั้นตอนการทำลายกรมปศุสัตว์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโดยเมื่อตรวจสอบแต่ละตู้เสร็จจะทำการติดซีล (Security Seal) ของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ไว้ที่ตู้ และจะทำการตัดซีลร่วมกันอีกครั้งในการนำของกลางไปทำลาย ซึ่งจะมีตัวแทนจากสภาเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงสุกร และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ บริเวณจุดทำลาย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาตรวจตู้ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2 สัปดาห์ และเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบตู้สินค้าดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ต่อไป

แหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ ว่า เนื่องจากชิ้นส่วนหมูที่ลักลอบนำเข้าได้มาแย่งตลาดเนื้อหมูในประเทศ ด้วยการขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด ทำให้กระทบต่อราคาหมูในประเทศ บิดเบือนกลไกราคาที่แท้จริง เกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย รายกลาง บางรายถอดใจไม่กล้ากลับมาเลี้ยงใหม่ เพราะผู้เลี้ยงจำเป็นต้องลงทุนยกระดับการป้องกันโรค ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกตัวละกว่าร้อยบาท ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรดำเนินการปราบปรามหมูเถื่อน ลักลอบนำเข้าอย่างจริงจัง ส่งผลให้การลักลอบนำเข้าทำได้ยากขึ้น ช่องทางเดิมถูกดักจับกุมได้บ่อยครั้ง มีการปรับเปลี่ยนช่องทางลักลอบจากท่าเรือไทยแล้วย้ายไปขึ้นของที่ท่าเรือประเทศเพื่อนบ้านแทน ก่อนนำขึ้นรถขนส่งเข้ามาตามแนวชายแดนแทน

การปรับช่องทางลักลอบเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า หมูเถื่อน มีต้นทุนต่ำมาก เพราะเมื่อรวมค่าจัดเก็บ ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามระยะทางขนส่งแล้วยังทำกำไรได้ เนื่องจากไม่ผ่านต้องกระบวนการตรวจโรคและเต็มไปด้วยสารตกค้างที่มาจากต่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีน ซึ่งเป็นสารที่ผิดกฎหมายไทย รวมทั้งยังอาจมียาปฏิชีวนะ และสารตกค้างอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ถือเป็นภัยใกล้ตัวผู้บริโภคที่อาจทานหมูเถื่อนเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะผู้ค้าไม่ได้ระบุก่อนซื้อว่า เนื้อหมูราคาถูกที่นำมาขายนั้น มาจากที่ใด ปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่