สำหรับคนรักต้นไม้แล้ว นี่อาจเป็นหนึ่งในหายนะที่จะต้องก้าวผ่าน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติปางสีดา นี่คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีแมลงอย่าง “ผีเสื้อ” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด

ทั้งอุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ต่างอยู่ในเขตผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติปางสีดา ที่ตั้งอยู่ในตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอวัฒนานคร อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามทั้งป่าไม้และนํ้าตก มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด และมีความโดดเด่นในเรื่องของผีเสื้อจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออก” โดยมีภาพของฝูงผีเสื้อนับร้อยที่มักจะพร้อมใจกันมาเกาะกินดินโป่งด้วยกันเป็นหมู่คณะ เป็นภาพแสนประทับใจที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนต่างเฝ้าคอย

ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่ผีเสื้อจะออกมาจำนวนมาก ทั้งสวยงามและหลากหลายว่ากันว่ามีผีเสื้อกว่า 500 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อกะลาสีเหลืองเล็ก ผีเสื้อหางติ่งธรรมดา ผีเสื้อเหลืองสยามธรรมดา ผีเสื้อหนอนจำปี ผีเสื้อสีอิฐ ผีเสื้อหนอนใบกุ่ม และผีเสื้อหายาก ๆ ที่จะออกมาโชว์ตัวช่วงนี้กันบ่อย รวมถึงผีเสื้อที่เพิ่งพบใหม่ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาในปีนี้อย่าง “ผีเสื้อบินเร็วใหญ่ใต้จุด” (Sybarite Skipper) ด้วย โดยจุดรวมตัวใหญ่จะอยู่ที่โป่งผีเสื้อ แหล่งดูผีเสื้อที่ทางอุทยานฯ สร้างขึ้นเพื่อดึงดูดเหล่าผีเสื้อออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉมแบบพร้อมหน้าพร้อมตา

การดูผีเสื้อสามารถดูได้ตลอดทั้งวัน แต่ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การดูผีเสื้อมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 09.00-11.00 น. และ 15.00-17.00 น. หรือในวันที่ฟ้าเปิดและมีแสงแดดส่องถึง เหล่าผีเสื้อสวยงามก็จะออกมาให้ได้ชมกันอย่างเต็มที่ สำหรับช่วงนี้อุทยานแห่งชาติปางสีดาอัปเดตมาว่าช่วงเวลาที่ผีเสื้อออกมากันเยอะคือ 10.00-14.00 น.

ไม่ใช่แค่ผีเสื้อเท่านั้น เพราะสภาพป่าเป็นภูเขาสูงซับซ้อน มีป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า มีสัตว์ป่าหายาก เช่น กระทิง ช้าง เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ และนกกว่า 300 ชนิด ว่ากันว่าที่นี่มีนกนานาชนิดและนกที่หาดูได้ยาก เช่น นกเงือก นกอ้ายงั่ว นกโกโรโกโส ฯลฯ โดยแหล่งดูนกอยู่ที่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ปด. 5 (ห้วยนํ้าเย็น) และอ่างเก็บนํ้าพระปรง

นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งจระเข้นํ้าจืด โดยมี “ลานหินดาด” อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปประมาณ 11 กิโลเมตร เป็นแหล่งศึกษาวิจัยที่มีความสำคัญด้านการอนุรักษ์จระเข้นํ้าจืดแหล่งสุดท้ายของประเทศไทย การเข้าไปในพื้นที่ต้องขออนุญาตอุทยานฯ ก่อนเข้าไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุม และเป็นแหล่งกำเนิดของต้นนํ้าลำธารหลายสาย เช่น ห้วยโสมง ห้วยนํ้าเย็น ห้วยพระปรง ห้วยพลับพลึง ห้วยยาง ห้วยเลิงไผ่ ฯลฯ ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่นํ้าบางปะกงหรือแม่นํ้าปราจีนบุรี ซึ่งเป็นแม่นํ้าสายสำคัญของภาคตะวันออก

แถมยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่าง “นํ้าตกปางสีดา” ที่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 800 เมตร นํ้าตกที่ไหลจากหน้าผา 3 ชั้น สูง 8 เมตร ลงสู่เบื้องล่างเป็นแอ่งนํ้ากว้างใหญ่ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น เหมาะแก่การลงเล่นนํ้า จะมีนํ้ามากในช่วงฤดูฝนและเต็มไปด้วยผีเสื้อมากมายหลากสี

ถัดขึ้นไปด้านบนห่างไปราว 2.5 กิโลเมตร มี “นํ้าตกผาตะเคียน” มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร สามารถเดินทางเท้าได้ 2 เส้นทาง มีป้ายบอกทางทุก ๆ 300 เมตร ตลอดเส้นทางขึ้นสู่นํ้าตกร่มรื่นด้วยแมกไม้ โดยมีป้ายบอกชื่อพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยา เหมาะสำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ

หากมาพักค้างคืนแนะนำให้ไปซุ่มดูฝูงกระทิงที่ลงมากินดินโป่งที่ “ทุ่งหญ้าโป่งกระทิง” ลักษณะคล้ายทุ่งหญ้าที่มอสิงโตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสัตว์ป่าออกหากินในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ทางอุทยานฯ จึงได้ทำโป่งเทียมและหอดูสัตว์ไว้จากถนนภายในอุทยานฯ มีทางแยกในบริเวณกิโลเมตรที่ 3.5 และกิโลเมตรที่ 6 แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 2 กิโลเมตรตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งกระทิงซึ่งมีโป่งธรรมชาติที่อาจพบสัตว์ป่าได้ หากจะไปควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

นํ้าตกอีกแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามไม่น้อยหน้ากันคือ “นํ้าตกถํ้าค้างคาว” ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 22 แล้วเดินเข้าไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะเป็นหน้าผาสูง ตั้งอยู่กลางป่าลึก การเดินทางสู่นํ้าตกค่อนข้างลำบาก ต้องเข้าไปพักแรมในป่า ใช้เวลาเดินทาง 3 วัน 2 คืนจึงเป็นนํ้าตกที่เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการผจญภัย บริเวณนํ้าตกมีถํ้าขนาดเล็ก ซึ่งมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ระหว่างเส้นทางไปนํ้าตกจะเต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ สำหรับที่นี่ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางล่วงหน้าก่อนการเดินทาง เช่นเดียวกับ “กลุ่มนํ้าตกแควมะค่า” นํ้าตกใหญ่ที่สุด ที่มีนํ้าตกบริวารใกล้เคียงทั้ง นํ้าตกรากไทรย้อย นํ้าตกแควมะค่า นํ้าตกลานหินใหญ่ นํ้าตกสวนมั่นสวนทอง และนํ้าตกม่านธารา ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 3 วัน 2 คืน เนื่องจากเป็นกลุ่มนํ้าตกที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนป่า

จากหลักกิโลเมตรที่ 22 เดินเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร มี “นํ้าตกทับซุง” นํ้าตกแห่งใหม่ของอุทยานฯ ระหว่างทางเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีพรรณไม้หลากหลายชนิด เป็นอีกเส้นทางที่ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางล่วงหน้า

ช่วงพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า และพระอาทิตย์ตกในยามเย็น นักท่องเที่ยวที่มาพักค้างแรมนิยมเดินทางไปที่ “จุดชมวิว” ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทิวทัศน์ไกลสุดตากลางหุบเขากว้างใหญ่ โดยควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางล่วงหน้าด้วยเช่นกัน

กิจกรรมเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา จังหวัดสระแก้ว 2023 ชวนร่วม “ประกวดภาพถ่ายผีเสื้อปางสีดา” ภายใต้หัวข้อภาพ “สีสันแห่งชีวิต Color of life” ภายใต้กฎเกณฑ์สำคัญ คือ ภาพถ่ายผีเสื้อที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ที่สื่อถึงความสวยงาม ลวดลาย ลีลาของผีเสื้อและธรรมชาติ (รับเฉพาะภาพที่ถ่ายในปี 2565-2566 เท่านั้น) ส่งผลงาน ภายในวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2566 ไม่เกิน 18.00 น. ประกาศผลการตัดสินภาพประกวดที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 ไม่เกิน 15.00 น. ตรวจสอบผลการตัดสินได้ที่ Facebook fanpage สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระแก้ว และ Facebook fanpage สมาคมรักษ์ปางสีดา

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เดิน-วิ่ง ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ เทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา จ.สระแก้ว ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลา 03.00-05.00 น. ประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ Fun Run 5 กิโลเมตร มินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตรฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร และการประกวดชุดแต่งกาย (วิ่งแฟนตาซี) ด้วย.

อธิชา ชื่นใจ

ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)