ล่าสุดในรายการโหนกระแส ที่มีพิธีกรอย่าง “หนุ่ม กรรชัย” ได้เรียกสัมภาษณ์ประเด็นการเมืองหลังการประชุมสภา ที่มีมติไม่ให้เสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ซ้ำเป็นรอบสอง ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการและนักกฎหมายต่างมองว่ามันผิดหลักการ ทำเอาช็อกกันทั้งประเทศ โดยได้ 2 นักวิชาการการเมืองมาร่วมพูดคุย

“รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ยอมรับว่าผิดหวังกับท่านประธานสภา ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่เปิดให้มีการลงมติโหวตว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอบที่ 2 เป็นการเสนอญัตติซ้ำหรือไม่ ตรงนี้ประธานสภามีเอกสิทธิ์ในการชี้ขาด โดยไม่ต้องให้มีการลงมติ

นักกฎหมายทั่วประเทศไทย ลงความเห็นตรงกันอยู่แล้ว ว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายไหนจะมาขัดหรือแย้งไม่ได้ แล้วที่ยกข้อบังคับข้อที่ 41 ที่มีศักดิ์เป็นแค่ “ข้อบังคับการประชุม” มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแบบเทียบกันไม่ได้ ยังปล่อยให้มีการลงมติ แล้วชนะได้ด้วย 392 เสียง มันผิดซะจนช็อกทั้งประเทศ เป็นการตะแบง พวกมากลากไป สร้างบรรทัดฐานผิด ๆ ขึ้นมา แบบนี้นักกฎหมายก็ไม่รู้ว่าจะไปสอนลูกศิษย์ได้ยังไง คณะรัฐศาสตร์ต้องปิดหมดแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ มันแย้งกับสิ่งที่เราสอนกันมาตลอดชีวิต

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นแผนสกัดคุณพิธา ไม่ให้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ทั้งที่ สว. หลายท่าน เขาก็เป็นนักกฎหมาย เขาต้องรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว แต่เขาต้องการผลลัพธ์ที่เขาตั้งธงไว้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า “รัฐพันลึก” คือมีอำนาจที่มองไม่เห็น มาฉุด มารั้ง มาบิด ให้สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามกลไกหลักการ

ขณะที่ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. มองว่า ตนเพิ่งจะโพสต์ไปในเฟซบุ๊ก เรื่องการเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ จริงๆ มันทำได้ และเคยทำมาแล้วในประวัติศาสตร์ เช่น การเสนอชื่อ กกต. ซ้ำ เข้ามาในที่ประชุม ครั้งแรกไม่ผ่าน ครั้งที่ 2 เสนอชื่อกลับเข้ามาใหม่ ตอนนั้น อ.วิษณุ เครืองาม ให้เหตุผลว่า เสนอชื่อซ้ำได้ รัฐธรรมนูญไม่เคยห้าม เมื่อรัฐธรรมนูญไม่เขียน ก็ต้องแปลว่าทำได้

ส่วนเรื่องการเสนอแก้ ม.272 ให้ปิดสวิตช์ ปิดอำนาจ สว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ตนแสดงจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่า ไม่ต้องการให้ สว. มาโหวตเลือกนายกฯ ได้รวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อเสนอเรื่องเข้าไปในสภา

รศ.ดร.นันทนา เสริมอีกว่า สว. เป็นเหมือนเนื้องอกของการเมืองไทย ที่มาตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 มันวิปริตผิดปกติ ให้อำนาจในการมาเลือกนายกฯ ซึ่งถ้าเนื้องอกยอมทำตามกลไกร่างกาย มันก็จะไม่ทำร้ายระบบ แล้วพอถึงเวลา ครบวาระ ก็จะถูกตัดออกไปในเดือน พ.ค. ปีหน้า แต่ตอนนี้ สว. กำลังทำตัวเป็นก้อนมะเร็ง ประชาชนเขาเลือกมาแล้ว แต่ท่านมาทำตัวตรวจสอบสิ่งที่ประชาชนเขาเลือกมา ขัดขวางไม่ให้เสียงประชาชนที่เลือก ไม่ให้ได้นายกฯ คนนี้

กติกาที่ให้ สว. มาเลือกนายกฯ สว. ที่ประชาชนไม่ได้เลือก มาตัดสินเสียงของประชาชน อันนี้ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน มีแต่ประเทศไทยที่ทำ ไม่มีกติกาสากลที่ไหนในโลกเขาทำแบบนี้ เมื่อมันไม่มีกติกาไหนมาเทียบเคียง เราก็ต้องทำกันไปแบบไทยๆ

อดีต กกต.สมชัย ยังบอกอีกว่า ถ้ากำหนดกติกาแบบนี้ มันมีวิธีหนึ่งที่จะกำจัดแคนดิเดตพรรคอื่นได้ง่ายๆ คือเสนอชื่อแคนดิเดตพรรคอื่นมาสัก 3-4 คน แล้วให้คนรับรองรายชื่อ 50 เสียง แล้วเปิดโหวตเลย เมื่อโหวตจริง แคนดิเดต 3-4 คน ก็ตัดคะแนนกันเอง แล้วเสียงไม่ถึงเลยสักคน ทุกคนที่ถูกเสนอชื่อไปแล้วก็ถูกตัดไป เสนอชื่อซ้ำไม่ได้อีก ตนก็อยากถามว่า เป็นแบบนี้จะเอาไหม

ขณะที่ สว.เสรี สุวรรณภานนท์ ได้โฟนอินเข้ามาชี้แจงว่า เมื่อวานนี้เราไม่ได้พิจารณากันว่า เป็นญัตติหรือไม่ แต่ถ้าใครตั้งใจฟังการพิจารณาตลอด จะเห็นชัดเจนเลยว่า สิ่งที่ตนอภิปราย ตนชี้ให้เห็นว่า การเสนอชื่อซ้ำมันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเรื่องข้อบังคับ

ใน ม.272 วรรคแรก ระบุว่า ให้เสนอชื่อคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าไม่มีการบอกว่า ให้เสนอได้กี่ครั้ง ซ้ำได้กี่ครั้ง แต่ในวรรคที่สองระบุว่า ในระยะเวลา 5 ปี ถ้าสภามีมติไม่เห็นชอบไปแล้ว มันต้องไปดู ม.88 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ไปดูในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ซึ่งให้ใส่มาได้ไม่เกิน 3 ชื่อ ถ้าชื่อแรกมันไม่ผ่าน ก็ต้องเสนอชื่อต่อไปอันดับ 2 แล้วอันดับ 3

เมื่อรัฐธรรมนูญให้แต่ละพรรคเสนอแคนดิเดตได้ไม่เกิน 3 ชื่อ นั่นหมายความว่า เจตจำนงรัฐธรรมนูญ ให้แต่ละพรรคเสนอได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ไม่อย่างนั้นก็จะมาหัวหมอ เสนอชื่อลำดับที่ 1 ซ้ำแล้วซ้ำอีก มากกว่า 3 ครั้ง รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ มันก็ไปสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 ที่ว่าห้ามเสนอญัตติซ้ำ

ขณะที่ อ.นันทนา แย้งว่า สิ่งที่ สว.เสรี ตีความไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ มันไม่มีบรรทัดไหน ที่ระบุว่า คนที่โหวตไม่ผ่านห้ามเสนอซ้ำ เพราะ ม.272 วรรคสอง ที่ สว.เสรี ยกมาอ้าง ระบุไว้ว่า

“ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88”

รศ.ดร.นันทนา ชี้ว่า วรรคนี้มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกรณีของคุณพิธาเลย มันเป็นเรื่องของการเสนอชื่อนายกฯ คนนอก ที่ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ แล้วก็ไม่ได้มีส่วนไหนที่ระบุว่า เสนอชื่อแคนดิเดตในบัญชีรายชื่อ ได้แค่รอบเดียว

ขณะที่ สว.เสรี ยังคงยืนกรานว่า กรณีของคุณพิธา ต้องไปดูบัญชีรายชื่อของพรรค ตาม ม.88 ว่าลำดับต่อไปเป็นใคร จะมาใช้ข้อยกเว้นต่างๆ ไม่ได้ แต่ละชื่อมันก็ต้องเสนอได้คนละครั้งเท่านั้น ไม่อย่างนั้นรายชื่อมันจะหมดได้ยังไง ไม่อย่างนั้นก็เสนอชื่อเดิมซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น แบบนี้มันไม่ถูก

รศ.ดร.นันทนา ถาม สว.เสรี ว่า เราไม่ต้องมาเถียงกันเรื่อง ม.272 ม.88 ด้วยซ้ำ ถ้า สว. ไม่สวนเสียงของประชาชน ถามว่าทำไม สว. ไม่โหวตตามฉันทามติของประชาชนตั้งแต่แรก สว. เอาสิทธิอะไรมาตรวจสอบเสียงที่ประชาชนเลือกมา

สว.เสรี ก็สวนว่า “ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวกับพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่มีปัญหาเดียวคือเรื่อง ม.112 ซึ่งเราไม่ต้องการให้มีเรื่องนี้เข้ามาอภิปราย หรือเสนอเข้ามาในสภา มันเป็นเรื่องที่กระทบต่อสถาบัน”

รศ.ดร.นันทนา สวนว่า “เรื่องนั้นมันเป็นกระบวนการนิติบัญญัติ ต้องไปทำตอนที่ได้รัฐบาลแล้ว จะเสนอกฎหมายอะไรในสภา ถ้า สว. ไม่เห็นชอบ ก็ไม่ผ่านกฎหมายอยู่แล้ว แล้วมันเรื่องอะไรที่จะเอาเหตุผลนี้มาเป็นเหตุผลไม่โหวตนายกฯ มันคนละเรื่องกัน”

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @โหนกระแส