เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตรองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นถึงการที่พรรคเพื่อไทย ได้เชิญพรรคการเมืองขั้วอำนาจเก่า เข้าร่วมพูดคุยถึงแนวทางในการจับมือตั้งรัฐบาล

โดยระบุว่า “ลองสวมวิธีคิดแบบแมคเคียเวลลี วิเคราะห์หมากของเพื่อไทย หลังจากผิดแผนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นพรรคลำดับหนึ่ง” มีความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง นั่นคือ ภายใต้ความคิดที่ลึกซึ้งและซับซ้อนของเพื่อไทย หมากที่หนึ่งถูกดำเนินการ นั่นคือ ทำตัวสงบเสงี่ยมร่วมกับก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงให้เห็นว่ายืนอยู่ข้างประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า สว. ไม่เอาด้วยอย่างแน่นอน เพื่อรอเดินหมากต่อไป

นั่นคือหมากสอง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง และใช้ 5 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมบีบก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้าน และตนเองก็จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรครัฐบาลเดิม ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะถูกมวลชนต่อต้านอย่างรุนแรง หลังจากเป็นรัฐบาลก็รีบจัดการประเด็นที่เป็นปมปัญหาของคนแดนไกลให้เข้าประเทศ เมื่อจัดการเสร็จแล้ว ก็อาศัยข้ออ้างว่ารัฐบาลถูกประชาชนต่อต้านมาก จำเป็นต้องปรับรัฐบาล

จากนั้นเดินหมากสาม คือ นำพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อบรรเทาอารมณ์ของประชาชน เป็นการตลบหลังกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเจ็บปวดที่สุด และอาจทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมกลับคืนมาบางส่วน และหากรัฐบาลที่ปรับแล้วทำงานได้ดี ก็เท่ากับปิดประตูการกลับคืนสู่อำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดอย่างถาวร เพราะพรรคเหล่านั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะชนะเลือกตั้งได้อีก ในบริบทของสังคมที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต