เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ศาลาปฏิบัติธรรมวัดหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระครูพิสุทธิ์ภาวนาพิธาน (เอกดนัย โชติธมโม) ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอหัวหิน เจ้าอาวาสวัดหัวหิน ได้จัดงานวันบุพการีขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันครบรอบการมรณภาพปีที่ 89 ของ “หลวงปู่นาค ปุญญนาโค” หรือพระครูวิริยาธิการี เจ้าอาวาสวัดหัวหินองค์แรก พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง พร้อมทั้งทำบุญอุทิศให้อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวหินทุกรูป โดยมี พระเทพวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ฝ่ายธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระเถระและเจ้าอาวาสในเขตประจวบฯ-เพชรบุรี รวม 119 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์

โดยมี นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาดอำเภอหัวหิน นายทวีสิน พัฒนาภิรัส ประธานสภาองค์การบริหารส่วน จ.ประจวบฯ นายศิรพันธุ์ กมลปราโมทย์ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน คณะผู้บริหารเทศบาล และศิษยานุศิษย์และประชาชนชาวหัวหินราว 2,000 คน ร่วมในพิธี พร้อมกันนี้ผู้ใจบุญต่างนำอาหารคาวหวาน ผลไม้ เครื่องดื่มนานาชนิด ร่วมออกโรงทานหน้าวิหารหลวงปู่นาคเกือบ 300 ร้าน มาแจกจ่ายให้ประชาชนที่ร่วมงาน และต่างหาซื้อเลขเด็ด “หลวงพ่อนาค” ครบรอบ 89 ปี ที่บริเวณหน้าวิหารกันอย่างคึกคัก

“หลวงปู่นาค” เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2400 เป็นบุตรของนายพ่วง-นางสุ่ม พ่วงไป มีพี่น้องรวมทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นคนที่ 2 บ้านเดิมอยู่ที่บ้านลัดโพ อ.คลองกระแซง จ.เพชรบุรี หัดเรียนเขียนอ่านอักขระสมัยที่วัดลัดโพกับพระอธิการเมืองอยู่ 1 ปี แล้วย้ายไปอยู่กับพระอธิการสุก วัดหลักป้อม จ.สมุทรสงคราม เรียนทางพระปริยัติธรรมและบาลีธรรมอยู่หลายปี จนอายุย่าง 19 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร กระทั่งอายุ 21 ปี จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหลังป้อม ได้รับฉายาว่า “ปุญญนาโค” เริ่มศึกษาวิปัสสนาธุระและรับการถ่ายทอดพุทธาคมจากหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อเอี่ยม วัดลัดด่าน และหลวงพ่อภู่ วัดบางกะพ้อม จนมีเกียรติคุณเลื่องลือด้านวิทยาคมอย่างยอดเยี่ยม ต่อมาในปี 2464 ท่านได้ลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัว และแต่งงานกับนางแจ่ม มีบุตร 1 คน ก่อนที่จะเลิกร้างกันไป และเกิดความเบื่อหน่ายทางโลก ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งที่วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี จำพรรษาอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนมาสร้างวัดวังก์พง ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านหัวหินได้พร้อมใจกันสร้าง “วัดอัมพาราม” ขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหัวหิน” ขุนศรีเสละคาม (พลอย กระแสสินธุ์) กำนันโต และผู้ใหญ่กล่ำ เป็นตัวแทนชาวบ้านไปอาราธนาท่านมาเป็นเจ้าอาวาส เพราะเป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนในท้องถิ่นนั้น นับแต่นั้นมา ท่านได้พัฒนาวัดหัวหิน จนกระทั่งมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมวัดอื่นๆ บั้นปลายชีวิตหลวงปู่นาคเริ่มอาพาธด้วยโรคบวมตามข้อ ปี พ.ศ. 2475 รักษาตัวเรื่อยมาอาการไม่หายขาด ก่อนที่จะมรณภาพลงเมื่อเวลา 15.53 น. วันที่ 24 ก.ค. 2477 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองยาวนานถึง 38 ปี มีอายุพรรษาได้ 43 พรรษา จากนั้นมาได้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสต่อมาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 10 รูป.