จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษที่ 82/2566 กรณีคดีกำนันนก ดำเนินการสืบสวนสอบสวน 2 บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” ในฐานะกรรมการบริษัท ได้แก่ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งทั้งสองแห่งรับโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน รวม 20 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มีมูลค่าวงเงินสัญญาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีการออกหมายเรียกพยานแก่ 58 บริษัท ซึ่งเคยยื่นซื้อซองเสนอราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ถอนตัวไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการเปิดซองประมูล หรือ E-bidding เข้าให้ปากคำชี้แจง เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยจะมีการทำสัญญากับภาครัฐโดยไม่โปร่งใส หรือมีการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทของกำนันนก กระทั่งพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบพยานเอกสารและหลักฐานจากการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายเครือข่ายกำนันนกจนพบว่ามีจำนวน 19 โครงการ จากทั้งหมด 20 โครงการที่มีพฤติการณ์การจัดฮั้วประมูล พนักงานสอบสวนจึงได้ขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีกำนันนก ว่า จากช่วงเวลาหลายเดือน คณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน แสวงหาพยานหลักฐานสำคัญและรวบรวมพยานเอกสาร พยานวัตถุต่าง ๆ เพื่อหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้ภาพที่ชัดเจนมากที่สุดว่า นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” มีขั้นตอนการเข้าไปประมูลโครงการของรัฐอย่างไรบ้าง และดำเนินการด้วยตัวเอง หรือสั่งการผ่านใครในฐานะลูกน้องหรือไม่ เนื่องจากเราพบว่ากรณีที่เกิดขึ้น มันอยู่ในระบบของการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ดังนั้น การซื้อแบบตั้งแต่แรกจะเป็นการซื้อในระบบ โดยไม่มีการเห็นหน้ากัน และไม่ได้พบเจอกัน ส่วนคนที่ซื้อซองก็จะได้รหัส และรับทราบวันเวลาที่ต้องเข้าไปร่วมประมูล และจะต้องเสนอราคาภายในระยะเวลาที่รัฐกำหนด (08.00 น. – 16.00 น.) ใครที่ให้ราคาต่ำสุดคนนั้นก็จะได้โครงการไปทำ

ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยอีกว่า ส่วนวิธีการฮั้วประมูลของกำนันนก ดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนจนพบว่า กำนันนกมีการพฤติการณ์ว่าจ้างซื้อข้อมูลของบรรดาผู้เข้าซื้อซองประมูลโครการจากกลุ่มผู้จัดฮั้วประจำจังหวัด ซึ่งจะมีหลายกลุ่มกระจายกันไป เฉพาะในจังหวัดนครปฐมจะมีประมาณ 2-3 กลุ่ม โดยในส่วนของกำนันนกพบว่ามีการว่าจ้างกลุ่มของ “นายมอสและภรรยา” คือ นายมนเทียร จอนมอญ หรือมอส และนางเกษฎาพร จอนมอญ บ่อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ในการสอบปากคำที่ผ่านมา สองสามีภรรยาไม่ได้ให้การแก่พนักงานสอบสวนว่าได้ข้อมูลรายชื่อของผู้เข้าซื้อซองอย่างไร แต่สิ่งนั้นไม่ใช่อุปสรรค เพราะเราจะเน้นสืบสวนไปที่เส้นทางการเงิน อีกทั้งในแต่ละโครงการ กำนันนกก็จะมีการว่าจ้างใช้กลุ่มจัดฮั้วแตกต่างกันออกไป ส่วนในเรื่องการตกลงราคาว่าจ้าง ก็จะมีการพูดคุยกันว่าเรตอัตราเท่าไร ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2% – 3% ยกตัวอย่างเช่น ตัวโครงการมีมูลค่า 40 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายที่กลุ่มจัดฮั้วมีการตกลงกับกำนันนกจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 ล้านบาท

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุว่า ในการทำธุรกิจนั้น เมื่อกำนันนกไปบริหารบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ก็จะมีกำไรที่ได้จากงานก่อสร้างต่าง ๆ แต่ก็ต้องนำเงินเตรียมไว้สำหรับจ่ายให้กับกลุ่มจัดฮั้ว โดยมีแนวคิดสำคัญ คือ ไม่สามารถที่จะนำเงินของบริษัทออกไปชำระรายการดังกล่าวโดยตรงได้ จึงมีพนักงาน ชื่อ “นายอำนาจ” (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี เรียกว่าเป็นมือทำบัญชีของกำนันนก หรือเป็นนอมินี คอยทำหน้าที่ผ่องถ่ายเงิน ซึ่งกำนันนกจะนำเงินออกจากบริษัทฯ ด้วยวิธีการสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินสดให้กับนายอำนาจ ซึ่งเส้นทางการเงินที่ดีเอสไอพบจากรายงานการสืบสวนมีมูลค่าสูงถึง 48 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2565 โดยไม่ได้เป็นการทำเพียงหนึ่งครั้งแต่ดำเนินการถึง 37 ครั้ง จากนั้นนายอำนาจ (ฝ่ายการเงินของกำนันนก) จะไปถอนออกมาเป็นเงินสด ในแต่ละครั้งจะเป็นการถอนเงินออกมาในจำนวนที่ไม่เท่ากัน จากนั้นจะเอาเงินก้อนนี้ไปแบ่งจ่ายสำหรับเป็นค่าชำระให้กลุ่มจัดฮั้ว รวมถึงระยะเวลาการทำธุรกรรมทางธนาคารมีเวลาที่ไม่ห่างกันมาก ดีเอสไอจึงพบเส้นทางการเงินระหว่างกำนันนก นายอำนาจ (ลูกน้องกำนันนก) นายวิชาญ (หัวหน้ากลุ่มจัดฮั้ว) นายมอสกับภรรยาที่เป็นผู้จัดฮั้ว พร้อมด้วยกลุ่มผู้เข้ายื่นซื้อซองที่มีเจตนาสมยอมราคา

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุถึงพฤติการณ์ขั้นตอนของการจัดฮั้ว ว่า เมื่อกลุ่มของนายมอส (กลุ่มผู้จัดฮั้ว) ได้รับเงินจากกำนันนก ก็จะนำไปซื้อข้อมูลรายชื่อของผู้เข้ายื่นซื้อซองประมูลโครงการของรัฐ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างขยายผล คือ ใครเป็นผู้ขายข้อมูลของผู้ยื่นซื้อซองให้กับกลุ่มของนายมอส และได้ข้อมูลของภาครัฐมาได้อย่างไร ทำให้ในการประกวดราคาในบางโครงการ นายมอสจึงได้ชื่อของผู้เข้ายื่นซื้อซอง เช่น หากได้มา 40 รายชื่อ นายมอสและภรรยาก็จะมีลูกจ้างของตัวเองอีกส่วนที่จะคอยทำหน้าที่โทรศัพท์ไปของาน พร้อมกับเสนอผลประโยชน์ว่าถ้าหากไม่เข้ายื่นเปิดซองในวันประกวดราคา หรือ E-Bidding ก็จะได้รับเงิน ตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท แล้วแต่ตกลงกัน ส่วนระยะเวลาในการจ่ายเงินก็จะอยู่ใน 3 ห้วงเวลา คือ ก่อนวัน-ระหว่างวัน-หลังวัน E-bidding ซึ่งพอได้รับเงินทำให้ในวันเปิดซองประกวดราคา กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะไม่เข้ามาร่วม จึงกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ดีเอสไอพบว่ามีจำนวนผู้เข้ายื่นซื้อซองประกวดราคาจำนวนมากแต่พอถึงวันเปิดซองจำนวนกลับลดลง บางครั้งเหลือประมาณ 2-3 บริษัท ซึ่งมักจะเป็นบริษัทภายในเครือของกำนันนกเอง และถูกเลือกมาอย่างดีว่าจะไม่ตกเป็นที่ต้องสงสัย ทั้งนี้ กรณีการฮั้วประมูลที่แนบเนียนที่สุด คือ บริษัทที่ต้องการชนะโครงการมักจะเหลือบริษัทที่จะให้เข้ายื่นเปิดซองประมาณ 3-4 บริษัท และจะมีการกำหนดเรตราคาการ E-bidding เพื่อให้บริษัทของตัวเองชนะการประมูลราคาต่ำที่สุด

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุต่อว่า สำหรับการสอบปากคำพยานที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนได้สอบพยานไปแล้วกว่า 100 ปาก อันประกอบด้วย คนซื้อซองประกวดราคา เจ้าหน้าที่ธนาคาร คนที่เข้าไปเป็นคู่เทียบในการประกวดราคา เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้จัดทำโครงการ เจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางและกรมทางหลวง โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ายื่นซื้อซอง แต่ได้ถอนตัวในวันเปิดซอง พบว่า บางส่วนให้การยอมรับเพราะล้วนเป็นคนนอกที่เข้ามายื่นซื้อซอง ดังนั้น พอได้รับการโทรศัพท์ข่มขู่จากเบอร์ปริศนาขอให้ถอนตัว จึงต้องดำเนินการตามนั้น เลยทำให้ได้เงินค่าซื้อซองคืน ในวงการจะเรียกว่า “บาท-บาท” คือ หากยอมถอย นอกจากจะได้ค่าซองคืนแล้ว ยังจะได้เงินค่ารถ ค่าน้ำมันที่เสียเวลาอีกด้วย ซึ่งกลุ่มที่ถูกโทรศัพท์ขอหรือข่มขู่มีจำนวน 5 ราย ให้การว่ามักได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า “โครงการ…ผู้ใหญ่…และกำนัน…ขอ” ทั้งนี้ ทั้ง 5 รายได้ถูกกันไว้เป็นพยานแล้ว แต่ในขณะที่บางส่วนก็ไม่ยอมรับว่าเงินที่ได้มาคือเงินอะไร เพราะส่วนใหญ่กลุ่มนี้มักเป็นผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกำนันนกโดยตรง

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุถึงการดำเนินคดีกับคนทุกกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูล ทั้งกำนันนกและลูกน้อง กลุ่มผู้จัดฮั้ว และกลุ่มผู้เข้าซื้อซองเสนอราคา ว่า ทั้งหมดจะมีความผิดฐาน ตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ, ร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการเสนอราคา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจูงใจให้ผู้นั้นร่วมดำเนินการใด ๆ อันเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาหรือถอนการเสนอราคา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 5 ววรค 1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยในวันจันทร์ที่ 29 เม.ย. เวลา 13.00 น.

คณะพนักงานสอบสวน นำโดย ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมด้วยตนเอง จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเพิ่มเติมแก่กำนันนกภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งประเด็นที่จะใช้ในการสอบปากคำจะเกี่ยวกับพฤติการณ์ในคดี โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เป็นมือไม้ทำงานให้กับกำนันนก ว่าทำไมจึงมีการโอนเงินให้ไปทำธุรกรรมต่างๆ หรือมีความสัมพันธ์รู้จักใครในผังบุคคลที่ดีเอสไอขยายผลตรวจเจอหรือไม่

เมื่อถามว่าพ่อและแม่ของกำนันนก ได้แก่ นายลออง จันทร์คล้าย หรือผู้ใหญ่โยชน์ และนางสุวีณา จันทร์คล้าย กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท ป. พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด จะถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่นั้น ร.ต.อ.สุรวุฒิ ยืนยันว่าทั้งคู่จะถูกดำเนินคดีทางอาญาอย่างแน่นอน โดยเป็นความผิดจากคนละโครงการกับกำนันนก เพราะในจำนวน 19 โครงการที่พนักงานสอบสวนพบว่ามีพฤติกรรมการฮั้วประมูล ในจำนวนนี้ 2 โครงการเป็นของพ่อและแม่กำนันนก ส่วนอีก 17 โครงการที่เหลือเป็นของกำนันนกรับผิดชอบ และในการสอบสวนดีเอสไอยังพบว่าพ่อและแม่ของกำนันนกมีความพยายามที่จะถ่ายโอนโครงการรัฐขนาดใหญ่ให้กับลูกชาย

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ของคณะพนักงานสอบสวน คือ การเร่งรัดการสอบสวนและขยายผลไปยังกลุ่มคนที่ขายข้อมูลของผู้เข้าซื้อซองประกวดราคาให้ได้ว่ามีใครบ้าง เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่บนระบบบล็อกเชน (Blockchain) และเป็นข้อมูลที่ถูกจัดเก็บโดยหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงช่องโหว่ดังกล่าวแล้ว แต่ทางหน่วยงานก็ยืนยันกลับมาว่าได้มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจค้นเครือข่ายของกำนันนก จำนวน 2 ครั้ง รวม 11 จุดเป้าหมาย คณะพนักงานสอบสวนได้ทำการตรวจยึดพยานหลักฐาน พยานวัตถุ และพยานเอกสารหลายรายการ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต รวม 19 เครื่อง เอกสารสัญญาจ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการในคดี และเอกสารที่เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการในคดี เป็นต้น เพื่อขยายผลหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สำหรับ 19 โครงการที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษนั้น แต่ละโครงการมีมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง 8 โครงการ , กรมทางหลวงชนบท 4 โครงการ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 7 โครงการ ในวงเงินงบประมาณทั้งหมด 1,326,244,000 บาท และวงเงินทำสัญญารวม 1,210,778,289 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิม (e-auction) 12 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2559 และการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ (e-bidding) 7 โครงการ หลังปี พ.ศ.59-ปัจจุบัน.