ตามมาตรฐานอ้างอิงจาก ประกาศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2547 โกดังเก็บพลุ ตัวอาคารต้องเป็น“เอกเทศ” 1 ชั้น ไม่มีชั้นลอย  ไม่มีชั้นใต้ดิน ก่อสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ  มีสายล่อฟ้า หลังคารองรับแรงอัดระเบิด และต้องมีการระบายความร้อนควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียล

ต้องมีเครื่องดับเพลิงเคมี 2 เครื่องต่อ 100 ตารางเมตร รวมทั้งมีรั้วห่างจากอาคารอย่างน้อย 20 เมตร และต้องเตรียมพื้นที่ไว้เผื่อกรณีที่ชุมชนขยายตัวเข้ามาใกล้โรงงาน  ห้ามเข้าใกล้ในรัศมี 100-500 เมตร ขึ้นอยู่กับปริมาณดอกไม้ไฟหรือพลุในโกดัง

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูในพื้นที่“เมืองหลวง”ที่มีชุมชนหนาแน่นมากถึง 2,017 แห่ง จะมีกรณีแอบซุกไว้หรือไม่  ปัจจุบันมีแนวทางจัดการอย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเหตุซ้ำรอย

“ทีมข่าวชุมชนเมือง”สอบถามผู้เกี่ยวข้องถึงภาพรวมการดำเนินมาตรการควบคุม สำรวจและการป้องกันพื้นที่ชุมชนในกทม.  โดย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่ผู้ประกอบการจะประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องมาขออนุญาตจากพื้นที่เพื่อประกอบกิจการตามข้อปฏิบัติญัติกรุงเทพฯ เรื่องการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันพบมีผู้แจ้งเป็นบริษัท หรือโรงงานที่ผลิต สะสมและมีการขนส่ง 3 ราย ซึ่งอยู่ในทะเบียนและมีการตรวจสอบมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีข้อสงสัยว่า อาจมีมากกว่าที่มาแจ้งไว้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยจึงมอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง นำโดยฝ่ายสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมที่มีข้อมูลสถานประกอบการ ที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายในพื้นที่ตัวเอง  ลงพื้นที่ปูพรมสำรวจและตรวจสถานประกอบการอีกครั้ง

ข้อมูลที่ได้จะนำมารวบรวมจำนวน และจุดที่ตั้ง เพื่อนำเข้าระบบแผนที่ความเสี่ยง หรือ Risk Map เพื่อจะได้ทราบพิกัดที่ตั้งชัดเจน เบื้องต้นจากการสำรวจพบยังมี 3 รายเท่าเดิม และไม่ใช่โรงงานผลิต แต่เป็นลักษณะสถานประกอบการที่สะสมพลุไว้ใช้ในกิจการตนเองที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯกทม. ระบุ คำสั่งการเพิ่มเติมให้สำรวจร้านจำหน่ายถังแก๊สที่ขึ้นทะเบียน พบมีจำนวน 446 แห่ง  รวมถึงจุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายก็ให้เก็บข้อมูล และนำมาใส่ไว้ในแผนที่ความเสี่ยงด้วย เนื่องจากปัจจุบันกทม.จัดทำแผนที่สถานประกอบการที่มีสารเคมีอันตราย จึงนำเรื่องถังแก๊ส และพลุดอกไม้ เข้าไปเพิ่ม

การเก็บถังดับเพลิงจากชุมชนมาก่อนหน้านี้ ทำให้เห็นว่าบางชุมชนมีถังดับเพลิงสีเขียวที่สามารถใช้ดับพลุ ประทัด หรือสารอันตรายที่ติดไฟได้  ดังนั้น จึงให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปสำรวจเพื่อให้เพียงพอรวมถึงพร้อมใช้งาน และเพื่อความไม่ประมาท ทั้งสำนักงานเขต สถานีดับเพลิง และหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งของสถานประกอบการทั้ง 3 แห่ง ต้องเตรียมความพร้อมกำลังผลและอุปกรณ์ เผื่อกรณีฉุกเฉินจะได้เข้าระงับเหตุได้ทันที

นอกจากมาตรการระงับเหตุ  รองผู้ว่าฯกทม. ระบุว่าความปลอดภัยหลังเกิดเหตุเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการเช่นกัน เช่น เมื่อดับเพลิงจะมีควัน ทำให้แสบตา ส่งผลต่อสุขภาพ ในกรณีนี้ระหว่างเกิดเหตุต้องมีทีมวิเคราะห์เรื่องการอพยพ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ต้องสำรวจการปนเปื้อนของสภาพแวดล้อม โครงสร้างอาคารที่พัก ก่อนให้ประชาชนกลับไปพักอาศัย

ขณะที่ นายสุนทร สุนทรชาติ ผอ.สำนักอนามัย ระบุ สำนักอนามัยมีแผนตรวจสถานที่จำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง ยกตัวอย่าง ช่วงเทศกาลลอยกระทง และประสานทุกเขตลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่สะสม จำหน่ายดอกไม้ไฟในพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยทั่วไปร้านค้าจะสะสมและจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิงเป็นระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเทศกาล

ขณะเดียวกันกทม. มีประกาศเรื่อง การขอรับใบอนุญาต การอนุญาต และแผนการป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ พ.ศ.2562 โดยให้ยื่นคำขออนุญาตและจัดให้แผนการป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมแผนผังบริเวณที่จะจุดต่อผอ.เขตพื้นที่

นอกจากนั้น ยังได้ประสานสำนักงานเขตที่อยู่ในพื้นที่บริเวณรอยต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ประสานสถานประกอบการโรงแรม สถานบริการ ที่อาจมีการจุดพลุในช่วงเทศกาลต่าง ๆ และจุดพลุบนเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาให้ดำเนินการตามประกาศ กทม. และมีหนังสือประสานกรมเจ้าท่าตรวจตราเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาให้ดำเนินการตามประกาศ กทม.และห้ามมิให้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้พักอาศัยใกล้เคียง รวมทั้งกำชับข้อควรระวังก่อนการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟต่อเนื่อง.

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน