เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการจัดประกวดคำขวัญใหม่ของ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 511 ผลงาน และคณะกรรมการคัดเลือกเหลือ 3 ผลงาน ทั้ง 3 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินรางวัล รางวัลละ 5,000 บาท เพื่อให้ประชาชนโหวตผ่านเพจเฟซบุ๊กสำนักงานวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ ถึงวันที่ 30 ธ.ค. นี้ โดย 1 ใน 3 ถ้าได้คะแนนสูงสุดจะถูกนำไปใช้เป็นคำขวัญประจำจังหวัด แต่หลังจากเปิดให้มีการโหวตยังไม่ทันข้ามวัน ก็เกิดกระแสดราม่าวิพากษ์วิจารณ์ถึง 3 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกว่า ไม่มีความเหมาะสมทางภาษาและคำคล้องจอง สู้แบบเดิมไม่ได้ รวมทั้งเสนอแนะกันจากความเห็นของประชาชนและกลุ่มบุคคลต่างๆ ในสื่อออนไลน์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประกวดคำขวัญ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ผลงานที่ส่งเข้ามาประกวดรวม 511 คำขวัญ โดยคณะกรรมการได้พยายามคัดเลือกคำขวัญที่มีอัตลักษณ์และความโดดเด่นของจังหวัดให้มากที่สุด และหลังจากคณะกรรมการมีการวิพากษ์และกลั่นกรองถึงคำขวัญที่ส่งเข้าประกวดแล้ว ก็ได้ลงมติโหวตคัดเลือกเหลือเพียง 3 คำขวัญดังกล่าว ทั้งนี้ มีการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส โดยเฉพาะในคำขวัญมีการใช้ภาษาสละสลวย มีความคล้องจองและสื่อความหมายที่ดี

“ขอยืนยันว่า หลักการพิจารณาคัดเลือกคำขวัญดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอน และโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะเป็นรูปแบบคณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งจากทางจังหวัด โดยมีทั้งผู้มีประสบการณ์และผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของ จ.เพชรบูรณ์ รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย รวม 11 ท่าน และมีท่านผู้ว่าฯ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ จึงเชื่อว่า ทั้ง 3 คำขวัญ ที่ถูกเลือกเป็นคำขวัญที่ดี เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และหากประชาชนสงสัย สามารถขอดูคำขวัญที่มีการจัดส่งประกวดทั้งหมดได้ที่สำนักงานวัฒนธรรม”

เปิดโหวตประกวดคำขวัญเพชรบูรณ์ 3 ผลงานเข้ารอบ ไม่ทันข้ามวันเจอดราม่า!

ส่วนกรณีจะเปิดเผยต่อสาธารณะได้หรือไม่นั้น นายอภินันท์ กล่าวว่า ตรงนี้คงต้องหารือทางคณะกรรมการก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติติงจากประชาชน ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนคำขวัญที่ชนะเลิศการโหวตแต่ชาวเพชรบูรณ์ มองว่ามีจุดบกพร่องหรือขาดความเหมาะสม ก็จะหารือคณะกรรมการฯ เพื่อปรับปรุงและแก้ไขให้มีความเหมาะสมต่อไป ส่วนเรื่องการโหวต 3 ผลงาน และไม่เปิดเผยชื่อเจ้าของผลงานนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่ให้คนโหวตเกิดความโน้มเอียง กล่าวคือเมื่อรู้ชื่อเจ้าของผลงานแล้ว อาจรู้จักสนิทสนม จึงโหวตให้ แต่ไม่ได้โหวตเพราะคุณภาพของผลงานจริงๆ จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องสงวนชื่อเจ้าของผลงานไว้ และจะเปิดเผยก็ต่อเมื่อหลังปิดการโหวตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว