เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้ ครม. ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันเรื่องนี้มาตลอด เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 ขาดความชอบธรรม นำพาวิกฤติการเมืองมาสู่ประเทศ ซึ่งการดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ 60 เป็นไปได้ที่ประชาชนจะเข้าคูหา 4 ครั้ง โดยขั้นตอนแรก คือจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

นายพริษฐ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีความจำเป็นทางกฎหมาย แต่หากผลออกมาชัดว่าประชาชนอยากให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำให้รัฐสภาไม่สามารถขัดขวางเจตจำนงประชาชนได้ ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสะท้อนฉันทามติประชาชนจริงๆ ทั้งนี้ คำถามว่าควรเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ 60 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เหตุผลคือ การถามคำถามลักษณะนี้เป็นการถามถึงหลักการสำคัญว่าควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าควรร่างใหม่ทั้งฉบับ คำถามนี้ยังถามถึงหลักการสำคัญว่า ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ ซึ่งเรามองว่าเป็นคำถามที่เข้าใจง่ายไม่ชี้นำ แตกต่างจากปี 59 ที่มีคำถามพ่วงในลักษณะซ้ำซ้อนชี้นำ และคำถามประชามตินี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองเคยผ่านความเห็นชอบมาก่อน ในการประชุมสภา เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 65

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ถ้าอิงตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 64 สามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ 1.ทำได้โดย ครม. ออกมติด้วยตนเอง 2.ประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นคน ให้ ครม. พิจารณาอนุมัติ และ 3.เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ ครม. ดำเนินการ เรามองว่าเพื่อความรวดเร็วในการทำประชามติ สามารถดำเนินการทั้ง 3 ช่องทางคู่ขนานกันได้ พรรคก้าวไกลจึงใช้กลไกสภาเสนอญัตติด่วนดังกล่าว โดยขอความร่วมมือทุกพรรคที่เห็นชอบว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ร่วมมือกับเรา โดยให้ญัตตินี้ถูกพิจารณาโดยเร็วที่สุด และให้เห็นด้วยกับคำถามที่เสนอไป

“เมื่อมีการพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจมีข้อกังวลจากบางภาคส่วนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ ส่วนนี้ขอชี้แจงว่า การให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ปี 60 ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆก็ตามหรือการนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องไม่ทำสองอย่างคือ ต้องไม่ทำเนื้อหาใดๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ” นายพริษฐ์ กล่าว.