หลังจากได้เห็นหน้าเห็นตาเหล่าบรรดาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ครม.เศรษฐา 1 กันแล้ว โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ควบนั่งรมว.คลัง อีกตำแหน่ง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปรวม 56 ล้านคน ซึ่งถือเป็นนโยบายหาเสียงชูโรงก็ว่าได้

หากดูนักเศรษฐศาสตร์ หรือศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ได้วิเคราะห์นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทในครั้งนี้ ถือว่าเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ มีเงินเข้าสู่ระบบมหาศาล กระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็ว แต่ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ จะนำเงินมาจากส่วนไหน และรูปแบบจะเป็นอย่างไร อาจไปเพิ่มภาระการคลังที่ไม่จำเป็นหรือไม่

ทั้งนี้ข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันออกมา โดยมองว่า 3 นโยบายที่อาจจะคาดว่าจะได้รับการถูกผลักดันทันทีในระยะเวลา 1 ปีแรกและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ได้แก่

1.นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาท แต่ถ้าทำได้จริงประเมินว่าจะทำให้เศรษฐกิจ หรือ GDP ในปี 2567 เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.2% จากประมาณการในปัจจุบัน

2.นโยบายพักหนี้เกษตรกร ซึ่งอาจมีต้นทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท

3.นโยบายลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำมันดีเซล

“เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายหลักเป็นนโยบายลดแลกแจกแถม มากกว่านโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางการคลังถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด โดยปัจจุบันมี วงเงินที่รัฐสามารถกู้เพิ่มจากเพดานการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลตาม พรบ. การบริหารหนี้สาธารณะ หรือใช้ผ่านรัฐวิสาหกิจ ตามกรอบวงเงินภาระทางการคลังตามมาตรา 28 ของ พรบ. วินัยการเงินการคลัง ได้อีกไม่มากนัก

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ที่ 61% ของ GDP ต่ำกว่าเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP แต่มีความจำเป็นต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการใช้เงิน และความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวด้วย

(ที่มา : KKP Research)