จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา การตรวจสอบมีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 8 ราย และยังมีปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจ ส่วนชาวบ้านที่รักษ์ผืนป่าทยอยส่งหลักฐาน การประมูลไม้พะยูงตามโรงเรียนในเขต สพป.เขต 2 หลายแห่ง โดยปรากฏ ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ยังมีโรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก และที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก มีการนำหลักฐานกล้องวงจรปิดจับภาพชายฉกรรจ์ 7 คน เข้าไปเจาะดูแก่นไม้พะยูง ภายในโรงเรียนโคกกลางเหนือพิทยา อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ และล่าสุด ยังเกิดเหตุคนร้าย 5 คนอาวุธครบมือ ลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนบ้านโนนศิลาสว่างวิทย์ หน้าบ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอย่างอุกอาจ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย. พล.ต.ต.สุวรรณ์ เชี่ยวนาวินธวัช ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนบ้านโนนศิลาสว่างวิทย์ ต.โนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ชัยพร พงษ์ศักดิ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ เขาควบคุมคดีโดยตั้งทีมเฉพาะกิจ ตำรวจภูรจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าติดตามเกาะรอยคนร้าย ตามกล้องวงจรปิด ถือเป็นเหตุที่อุกอาจไม่เกรงกลัวกฏหมาย ซึ่งได้กำชับให้ ตำรวจทั้ง 23 สถานี ทั้งจังหวัด ประสานกับทางอำภอ เพื่อร่วมเวรยามในการเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้การก่อนเหตุเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ไม้พะยูง ถือเป็นไม้มงคลที่มีความต้องการของตลาดค้าไม้เป็นอย่างมาก อีกทั้งในภาคอีสานโดยเฉพาะที่จังหวดกาฬสินธุ์ รายงานแจ้งว่ายังมีปริมาณไม้พะยูงอยู่ จึงเป็นที่หมายปองของกลุ่มพ่อค้าไม้ ทั้งนี้ตำรวจจะทำหน้าที่ป้องกันและจับกุมให้ดีที่สุด

ขณะที่เดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ หัวหน้าพร้อมด้วยนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายอดิสร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กส. 1 (ดงมูล) ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุตัดไม้พะยูงโรงเรียนขาย 2 แห่ง ที่โรงเรียนหนองโนวิทยา ต.หัวหิน และโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 ซึ่งเป็นการตรวจสอบทั้งเอกสาร และสอบปากคำผู้บริหารโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และชาวบ้าน ในประเด็นก่อนและหลังการขออนุญาต การเปรียบเทียบราคาจากการประเมินปริมาตรไม้ที่ขายไป โดยมีตอไม้พะยูง ภาพถ่ายก่อนตัด และใบเสร็จรับเงินขายไม้เป็นหลักฐาน

รองผู้ว่าฯ จี้ธนารักษ์กาฬสินธุ์ ชี้แจงภาพคล้ายจนท.พานายทุนดูไม้พะยูงตามโรงเรียน

ในการตรวจสอบ พบหลักฐานยืนยันตัวบุคคล ในการเข้ามาเป็นผู้ประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ โดยปรากฏตัวและมีภาพถ่ายประกอบ ทั้งในส่วนของการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสถานศึกษา การเข้ามาตรวจวัดปริมาตรไม้พะยูง การประเมินราคาขาย การลงชื่อรับรองเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ระบุว่าเป็นคนของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ชื่อ “สันติ” นอกจากนี้จากการตรวจสอบความเหมาะสมในการตัดยังพบพิรุธ ไม้พะยูงทุกขั้นตอนก่อนถูกตัดขาย บางต้นเหมือนมีการสร้างสถานการณ์ โดยไปสร้างห้องน้ำอยู่ใต้ร่มไม้พะยูง ก่อนทำการตัดไม้พะยูง ขณะที่ไม้ประเภทอื่น เช่น สะเดา ประดู่ ซึ่งมีความเสี่ยงจะล้มทับสิ่งปลูกสร้างกลับไม่ตัด เพราะ “ไม่ใช่ไม้พะยูง” โดยเฉพาะในส่วนของราคาซื้อขายที่ต่ำและแตกต่างกันมาก กับราคากลางหรือราคาประเมินตามมาตรฐานป่าไม้ประมาณ “30-50 เท่าตัว”

นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนประมูลขาย โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ ทำการตรวจสอบขั้นตอน ว่าปฏิบัติถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่ รวมทั้งยังมาให้กำลังใจฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ ซึ่งทำหน้าที่เข้าเวรยาม ตรวจตรา ทรัพยากรต้นไม้ ตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดทั้งให้กำลังใจคณะครู นักเรียน ในโอกาสเดียวกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้สอบถามผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาและชาวบ้าน ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขออนุญาตตัดไม้พะยูงขาย และทำการตรวจวัดปริมาตรไม้ เพื่อประเมินราคาตามหลักการมาตรฐานของกรมป่าไม้ ซึ่งรายละเอียดอื่นๆ เช่น มีการฝ่าฝืนคำสั่ง กระทำการผิดกฎหมายหรือไม่ หรือมีบุคคลใดเกี่ยวข้องอย่างไร ก็จะได้มีการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

“เบื้องต้นพบว่าการประมูลไม้พะยูงขาย ถือว่าผิดกฏหมายทุกขั้นตอน เป็นการปฏิบัติผิดข้อสั่งการของทางจังหวัดรวมถึงข้อสั่งการตามหนังสือของกรมธนารักษ์ เลขที่ กค 0305/ว20 วันที่ 1 ก.พ. 60 จึงได้สั่งการให้ นายอำเภอห้วยเม็ก ทำการสอบสวนรายงานเป็นรายลักษณ์อักษรระบุตัวบุคคล ซึ่งพยานระบุว่าชื่อ “สันติ” เป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ รวมถึง นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ให้มาอธิบายถึงเหตุผลในการประมูลไม้ขายทั้งหมด ภายในสัปดาห์นี้” รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ระบุ

ด้านนายอดิสร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับการประเมินราคาไม้ในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ที่มีการซื้อขาย 9 ต้น ราคา 104,000 บาท แต่จากการประเมินวันนี้พบว่า หากมีการซื้อขายกันในท้องถิ่นจะได้ราคาประมาณ 600,000 บาท ขณะที่ประเมินตามราคามาตรฐานกรมป่าไม้ 1,512,750 บาท ส่วนไม้พะยูงโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น ซึ่งมีขนาดลำต้นสูงใหญ่ จากหลักฐานซื้อขายเพียง 30,000 บาท แต่จากการประเมินวันนี้ หากซื้อขายกันในท้องถิ่นจะได้ราคาประมาณ 800,000 บาท หรือราคามาตรฐานกรมป่าไม้สูงถึง 2,232,000 บาททีเดียว จึงเห็นว่าราคาแตกต่างกันมาก.