เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดิมจ่ายเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ โดยจะเริ่ม 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป เพื่อให้ข้าราชการมีกระแสเงินสดในการใช้จ่ายและชำระหนี้ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ข้าราชการสาวรายหนึ่งใน จ.ขอนแก่น เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ยอมรับว่ากังวลกับมติ ครม. ดังกล่าว เพราะจะกระทบกับใช้ชีวิตและการบริหารจัดการเงิน ทั้งในส่วนบุคคลและองค์กร ยกตัวอย่างเช่น ตนเองมีเงินเดือนและมีภาระที่ต้องจ่าย เช่น หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ธนาคารต่างๆ บัตรเครดิต ค่ำน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้าน ปกติจ่ายครั้งเดียวช่วงสิ้นเดือน แต่ถ้าหากเปลี่ยนระบบเงินเดือนเป็น 2 รอบ จะต้องแบ่งจ่ายแบบไหนจึงจะไม่กระทบ และสหกรณ์หรือธนาคารจะสามารถทำเรื่องแบ่งจ่ายให้กับข้าราชการได้หรือไม่

“ในระบบราชการคนที่ทำบัญชี ธุรการของหน่วยงานจะต้องมาทำบัญชีเงินเดือน 2 รอบ เรื่องนี้ไม่ได้กระทบเฉพาะหน่วยงาน จะต้องไปถามธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน ว่าเขาจะยอมให้แบ่งจ่ายเป็น 2 งวดหรือไม่ และถ้าจ่าย 2 รอบ ธนาคารต้องคิดดอกเบี้ยรอบเดียวเท่าเดิมหรือไม่ ถ้าคิดดอกเบี้ย 2 รอบ ผลกระทบก็จะมาตกที่คนจ่าย แบบนี้ก็ไม่โอเค ไม่ใช่มอบนโยบายให้หน่วยงานราชการแล้วจบ แต่รัฐบาลต้องไปประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบ ก็คือการใช้เงิน 2 ครั้ง ซึ่ง โดยนิสัยส่วนตัวยอมรับว่าไม่ค่อยออมเงิน เพราะฉะนั้นกลัวว่าแต่ละครึ่งเดือนจะไม่พอใช้ สุดท้ายก็ต้องไปยืมเงินจากที่อื่นมาใช้อยู่ดี แต่ถ้าจ่ายเดือนละครั้งเหมือนเดิม ก็จะรู้ว่าบริหารจัดการอย่างไร” ข้าราชการสาว กล่าว

ข้าราชการสาวรายดังกล่าว กล่าวต่ออีกว่า การที่รัฐบาลมองว่าจ่ายเงินเดือนเป็น 2 งวด เพื่อให้ข้าราชการมีกระแสเงินสดหมุนเวียน ส่วนตัวกลับมองว่าจะเพิ่มภาระหนี้สินมากกว่า เพราะนิสัยคนไทยใช้เงินเติบ กลางเดือนไม่พอก็ต้องหยิบยืม พอสิ้นเดือนค่อยนำมาคืน สุดท้ายก็จะกลายเป็นหนี้ไม่รู้จบ หากรัฐบาลอยากให้ข้าราชการมีกระแสเงินสดหมุนเวียน เสนอให้ปรับฐานเงินเดือนให้กับข้าราชการจะดีกว่า เพราะ 9 ปีที่ผ่านมา ระบบราชการไม่เคยได้ปรับฐานเงินเดือนในกลุ่มเทศบาลเลย ที่พูดไม่ได้เรียกร้อง แต่หากรัฐบาลอยากให้มีเงินหมุนเวียน วิธีนี้คือทางออกที่ดีที่สุด

ขณะที่นายสงวน สุวรรณภา อายุ 67 ปี ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า ดีใจที่ ครม. มีมติลดค่าไฟฟ้า จากเดิมกิโลวัตต์ละ 4.45 บาท เหลือ 4.10 บาท กิโลวัตต์ และค่าน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่มได้ 20 ก.ย. นี้ เพราะที่ผ่านมาประชาชนลำบาก การลดค่าไฟจะช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้โดยปกติครอบครัวตัวเองเป็นครอบใหญ่ อยู่กันหลายคน ค่าไฟแต่ละเดือนอยู่ที่ 5,000 บาท จะลดได้มากได้น้อยก็ถือว่าดีหมด.