กรณีที่มีการรายงานข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด ได้ดำเนินการยื่นเอกสารต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ลดโทษ “ทักษิณ”ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาก.ม. ยังไม่ชัดต้องใช้วิธีการใด

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายสิทธิ สุธีวงศ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ ถึงประเด็นและข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า สำหรับกระแสข่าวดังกล่าว ยืนยันว่านายทักษิณ หรือครอบครัวยังไม่ได้มีการยื่นขอพักโทษแต่อย่างใด และทางราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับทราบการยื่นเอกสารดังกล่าว ส่วนกระบวนการขอพักโทษนั้น จะเป็นกระบวนการที่เรือนจำจะเป็นผู้พิจารณายื่นเรื่องให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา ซึ่งทางเรือนจำฯ จะสามารถยื่นรายชื่อบุคคลที่จะดำเนินการพักโทษได้ จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้น ๆ

นายสิทธิ เผยอีกว่า โดยการพิจารณาคุณสมบัติจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.แบบปกติ นักโทษรายนั้นๆ จะต้องโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่ได้รับ และ 2.แบบพิเศษ มีเกณฑ์แยกย่อย 3 ข้อ คือ จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป, มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งกรณีของนายทักษิณ สามารถเข้าเกณฑ์ได้ทั้งแบบปกติและแบบพิเศษ เพราะนายทักษิณ เองถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปและป่วยร่วมด้วย

นายสิทธิ เผยว่า สำหรับขั้นตอนแรกในโครงการการพักการลงโทษนั้น จะเป็นทางเรือนจำที่ทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นว่าเข้าเกณฑ์แบบปกติหรือแบบพิเศษตามที่เรียนแจ้งข้างต้น ซึ่งถ้าหากดูคุณสมบัติของนายทักษิณ แล้ว อาจจะได้รับการพิจารณาเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป แต่ตามกฎหมายก็ได้มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องมีการรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือตั้งแต่ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า

โฆษกราชทัณฑ์ เผยอีกว่า ซึ่งปัจจุบันนี้นายทักษิณ ได้การอภัยลดโทษเหลือจำคุกเพียง 1 ปี ดังนั้น 1 ใน 3 ที่นี้ก็คือ 4 เดือน แต่ตามกฎหมายมีการระบุว่าหรือ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ซึ่งหมายความว่านายทักษิณ จะต้องจำคุกมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน การยื่นมาก่อนก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์ จึงทำให้กรณีของนายทักษิณ โทษจำคุกจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ห้วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ จะถูกพิจารณาพร้อมกับผู้ต้องขังเด็ดขาดรายอื่นๆ เนื่องจากทางเรือนจำจะมีการเสนอเรื่องขึ้นมาแล้วจึงจะมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง

โฆษกราชทัณฑ์ เผยด้วยว่า หากนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ ทางเรือนจำก็จะมีการแจ้งไปยังทนายความประจำตัวของผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ต้องขังเองด้วย เพื่อแจ้งเงื่อนไขให้ทราบว่านักโทษจะต้องรู้คุณสมบัติของตัวเอง แล้วก็ต้องเตรียมเอกสาร อีกทั้งจะมีการสัมภาษณ์ เพราะผู้ต้องขังเด็ดขาดแต่ละรายที่ผ่านเกณฑ์จะต้องเข้าให้การสัมภาษณ์กับทางเรือนจำ เพื่อทางเรือนจำได้ดูตัวและสอบถามพูดคุยว่าครบเกณฑ์หรือไม่และยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกมาก

โฆษกราชทัณฑ์ เผยต่อว่า สำหรับกรณีของนายทักษิณ ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำหรือที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งปกติแล้วจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเข้ารับการอบรมต่างๆ แต่ในเมื่อเจ้าตัวไม่สามารถเข้ารับการอบรมได้ ก็จะมีข้อยกเว้นอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการจะต้อไปลงรายละเอียดเพื่อหารือกันอีกครั้ง แต่ในตอนนี้นายทักษิณ ยังไม่ถึงเวลาที่จะอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาสำหรับโครงการดังกล่าว เพราะว่ายังต้องโทษจำคุกไม่ครบตามเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม ปกติทางเรือนจำจะมีการสำรวจล่วงหน้าสักประมาณ 1-2 เดือน ก่อนที่จะถึงเดือน ก.พ. 67 เพราะจะมีขั้นตอนในส่วนของกรมคุมประพฤติที่จะต้องไปสืบเสาะและรายงานผลกลับมา เราจึงจะมีการประชุมของคณะกรรมการ

เมื่อถามว่าใกล้ครบกำหนดระยะเวลาการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำสำหรับ 30 วัน ทางเรือนจำหรือราชทัณฑ์จะมีการพูดคุยกับทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาของโรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ว่าจะพิจารณาให้นายทักษิณ รักษาต่อเนื่อง หรือส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โฆษกราชทัณฑ์ เผยว่า เมื่อใกล้ครบ 30 วันทางโรงพยาบาลตำรวจจะต้องส่งผลประเมินเรื่องสุขภาพมายังเรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเราก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ และอาจจะไม่ได้มีการประชุมอะไรร่วมกันกับนายแพทย์ใหญ่อย่างเป็นทางการขนาดนั้น ซึ่งถ้าหากนายทักษิณ ยังคงมีอาการไม่ทุเลาดีขึ้น หรือแพทย์มีความเห็นให้มีความจำเป็นจะต้องรับการรักษาเฉพาะทางต่อเนื่อง เรือนจำฯ ก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ดังกล่าว และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็จะอนุญาตให้พักรักษาตัวภายนอกเรือนจำต่อได้.