เป็นที่น่าจับตาในแวดวงสีกากี สำหรับศึกชิงเก้าอี้ “พิทักษ์ 1” ที่ยังคาราคาซัง ต้องลุ้นว่า ใคร..?? จะเข้ามาสวมบท “แม่ทัพปทุมวัน” รับไม้ต่อจาก “ผบ.เด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ที่ครบวาระเกษียณราชการสิ้นเดือน ก.ย. นี้

และหากนับเวลาถอยหลัง เหลือเพียงไม่ถึงสัปดาห์…ก็จะได้รู้แล้วว่าใครที่จะ “ชนะใจ” “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และถูกเสนอชื่อให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณา

หากเทียบฟอร์ม “4 แคนดิเดต” ชิง ผบ.ตร. ชั่วโมงนี้ แต่ละคน “ดี-เด่น-ดัง” คนละแบบ ยิ่งโค้งสุดท้ายต่างโชว์ผลงานในสายงานรับผิดชอบ เกาะกระแสคดีเด่น-คดีดัง หวัง “สปอตไลต์” ฉาย “ผลงาน” เข้าตานายกฯ เศรษฐา หยิบชื่อตนเองเสนอ ก.ตร. พิจารณา ขณะที่บางคนก็เลือกขออยู่แบบเงียบๆ-ไม่วิ่งหาแสง เพราะอาจเสี่ยง (ชื่อ) หลุดรันเวย์…ก็เป็นได้

อย่างว่า…ของแบบนี้วิธีใครวิธีมัน

แต่กว่าจะถึงเวลานั้น บรรดานกกระจอกนกกระจิบในรั้วปทุมวัน…ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า.. ฝุ่นตลบเสียยิ่งกระไร หนำซ้ำยิ่งใกล้โค้งสุดท้ายมากเท่าใด “ข่าวปล่อย-ข่าวลือ-ข่าวจริง” แพร่สะพัดออกมาไม่เว้นแต่ละวัน

เริ่มจากกระแสข่าวว่า “รองรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. นรต.40 ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด และจะเกษียณอายุราชการในปี 2567 ถูกทาบทามให้ “ข้ามห้วย” ไปนั่งเก้าอี้ “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) แทน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้

พ่วงกระแสลือซ้ำ เป็นการเปิดทางให้ “รองต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ที่เหลืออายุราชการปีเดียวเช่นกัน นั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ต่อจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

หากเป็นไปตามกระแสข่าวเท่ากับว่า ต้องเกิดจาก “ความสมัครใจ” เช่นกัน เหตุที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ระบุไว้ชัดเจนใน มาตรา 93 การโอนข้าราชการตำรวจไปรับราชการในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่น จะกระทำได้เมื่อเจ้าตัวสมัครใจ และส่วนราชการหรือหน่วยงานต้องการจะรับโอนผู้นั้น โดยให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่ขอรับโอน ทำความตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่นเดียวกับกรณีของ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ถูกทาบทามให้ไปดำรงตำแหน่งแทน นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่จะเกษียณราชการ

ขณะเดียวกัน “ผู้สันทัดกรณี” ซึ่งเคยรับราชการใน “สมช.” แสดงความเห็นถึงตำแหน่ง “เลขาฯ สมช.” มีความสำคัญ มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง หลายประเทศทั่วโลกกว่าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งจะเป็นข้าราชการการเมือง เห็นได้จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็น “ต้นแบบ” ที่ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง และเมื่อผู้นำประเทศเปลี่ยน เลขาฯ สมช. ก็ต้องเปลี่ยนตาม

แต่หากมองในระบบของประเทศไทย หากเป็นข้าราชการประจำจะต้องถามรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง คนที่มาดำรงตำแหน่ง ต้องมีความเข้าใจในบริบทการเมือง หรือทำงานฝ่ายความมั่นคงมานาน จนมีความเชี่ยวชาญสูง จะทำให้การตัดสินใจทำงานเร็วขึ้น ซึ่งดีที่สุดคือมาจากข้าราชการการเมือง

ไม่เพียงกระแสข่าวลือนี้…เท่านั้น ห้วงเวลาเดียวกันปรากฏข่าวลือที่ว่าจะดัน “รองโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 2 ไปคุมหน่วยงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือเก้าอี้เลขาฯ ป.ป.ส. แต่ทว่า “ข่าวลือ” ก็คือ “ข่าวลือ” แว่วมาว่าทั้งสองกรณี “เจ้าตัวไม่สมัครใจ” พร้อมขออยู่ในสายงานตำรวจต่อ ข่าวลือนี้เป็นอันตกไป…!!!!

ทั้งนี้ ยังมีอีกเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าผลพวงจาก “คดีกำนันนก” เล่นเอาอาณาจักร “โล่เงิน” สั่นสะเทือน ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เหตุเพราะคนร้ายอุกอาจกล้ายิงนายตำรวจ ซ้ำยังช่วยผู้ต้องหาหลบหนี มีขบวนการปล่อยข่าว ที่อาศัยช่วงจังหวะอุณหภูมิในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ร้อนระอุ สบช่องโอกาสปล่อยข่าวสกัดเส้นแคนดิเดตบางคน ไม่ให้ขึ้นสู่ปลายยอดสุดของ “กรมปทุมวัน”

อีกทั้งเกิด “อาฟเตอร์ช็อก” เมื่อ “บิ๊กโจ๊ก” หนึ่งในแคนดิเดต ที่สื่อหลายค่ายต่างยกว่าคือ “คู่ชิง” ปีนี้ ถูกเบรกเอี๊ยด…หลังเจ้าตัวสวมบทพระเอก ขันอาสากวาดบ้านตัวเอง หมายมั่นปั้นมือคดีนี้ จะส่งผลให้ผลงานเข้าตานายกฯ เศรษฐา ไม่มากก็น้อย

แต่ด้วยความเกินงามหรืออย่างไร ไม่มีใครรู้ “บิ๊กเด่น” มีคำสั่งให้โอนคดีให้กองบังคับการปราบปรามและกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ทำสำนวนในการเอาผิดตำรวจที่ให้การช่วยเหลือกำนันนก ขณะที่ “บิ๊กโจ๊ก” ได้แต่รับคำสั่ง และเดินหน้าเอาผิดในเรื่องฮั้วประมูลแทน แม้ภายหลัง “บิ๊กเด่น” จะออกมาให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่การไม่พอใจการดำเนินงาน ตามที่กระแสสังคมระบุ อีกทั้ง “บิ๊กโจ๊ก” ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลทุกอย่าง ไม่ได้ถือว่าเป็นการลิดรอนอำนาจ เป็นการตีความผิดไปเอง

แต่นั่น…ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการส่ง “สัญญาณเตือน” ของ “บิ๊กเด่น” อย่างมี “นัยสำคัญ” ซ่อนอยู่ จนบรรดาผู้สันทัดกรณีในแวดวงตำรวจต่างลงความเห็นว่า เส้นทางการลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 14 ของ “บิ๊กโจ๊ก” อาจหยุดลงแต่เพียงเท่านี้ ทำให้วินาทีนี้ทุกสายตาจับต้องไปที่ “คู่ชิง” ผบ.ตร. คู่ใหม่ “รองรอย-รองต่อ”

หนึ่งคนได้เปรียบเรื่องอาวุโสผ่านงานในระดับ ตร. มาทุกหน้างาน แม้ปีนี้จะได้คุมหน้างานมั่นคง แต่หาใช่ว่าไม่เคยผ่านหน้างานสืบสวน-ปราบปราม ตามที่กฎหมายระบุ ขณะที่อีกคนได้เปรียบเรื่องแรงหนุนทั้งในและนอก ทั้งปัจจุบันยังคุมหน้างานปราบปราม เป็นไปตาม “สเปก” กฎหมายที่เขียนไว้ แม้ลำดับอาวุโส “รั้งท้าย” ก็ตาม

แต่ใครจะไปรู้ ตราบใดที่ไม่สิ้นเสียงระฆัง โอกาสที่ “บิ๊กโจ๊ก” จะทำคะแนนตีตื้นยังคงมีให้เห็น เว้นเสียแต่ว่าเจ้าตัวจะหลบมุม-ขอดูเชิง รอลุ้นชิงในปีหน้า ซึ่งจะได้เปรียบในหลักการเป็นอาวุโสอันดับ 1 และภาวนาว่า ผบ.ตร. คนใหม่ จะมอบหมายหน้างาน “สืบสวน-ปราบปราม” ก็จะเป็นไปตามสเปกที่ พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับใหม่ระบุไว้พอดิบพอดี

อีกคนคือ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ แม้จะไม่ค่อยปรากฏหน้าสื่อ แต่ก็ประมาทไม่ได้ ช่วงท้ายๆ อาจมาแรงมาเงียบ ซึ่งว่ากันว่าหากไม่ได้ชิงในปีนี้ ก็ยังพอมีเวลาแต่งตัวลุ้นชิงดำในปีถัดไป เผลอๆ ได้แรงหนุนโดยไม่ต้องออกแรง…

การคัดเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ ในการพิจารณาแต่งตั้งครั้งนี้ ถือเป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ ที่ขั้นตอนการได้ต้องผ่าน “กฎเหล็ก” โดยให้นายกฯ เศรษฐา คัดเลือกจาก รอง ผบ.ตร. หรือ จเรตำรวจแห่งชาติ โดยคำนึงถึงหลักอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม ให้ ก.ตร. พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นนายกฯ จะนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ

ทฤษฏี “ตาอยู่-กินพุงปลา” ที่ผ่านมา นิทานอีสปต่างมีให้เห็น เชื่อว่าโค้งสุดท้ายทั้ง 4 รอง ผบ.ตร. จำต้องวัดกำลังยกสุดท้ายกันสุดพลัง เพื่อซื้อใจ-วัดใจ “นายกฯ เศรษฐา และ ก.ตร.” ว่าจะเลือก “แม่ทัพ” แบบไหน ครองรหัส “พิทักษ์ 1”

หมากกระดานร้อนเกมนี้บทสรุปจะเป็นเช่นใด บ่ายวันที่ 27 ก.ย. นี้ ได้รู้กัน…!!!