เมื่อวันที่ 25 ก.ย. พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ต.สุทศธวรรศ อารีย์รัตนะนคร ผอ.กองปฏิบัติการพิเศษ และ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ฝังกลบซากหมูเถื่อน คดีพิเศษที่ 59/2566 กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมี นายเสกสรรค์ สวนกูล ผอ.สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ และนายธนเดช อมรชัยสิน ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดสระแก้ว นำคณะกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าตรวจสอบสถานที่ฝังกลบซากสัตว์ (สุกร) ดังกล่าว

พ.ต.ต.ยุทธนา รองอธิบดีดีเอสไอ เผยว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ของกรมปศุสัตว์ ในสำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดสระแก้ว ที่ใช้สำหรับทำลายซากหมูเถื่อน 161 ตู้ น้ำหนักรวม 4.5 ล้านกิโลกรัม โดยจะใช้วิธีฝังกลบในบ่อที่เตรียมไว้ จำนวน 3 บ่อ แต่ละบ่อมีความยาว 150 เมตร ลึก 3 เมตร มีลักษณะลาดเอียงลงไปเพื่อให้ท้ายบ่อมีการระบายของบ่อพักน้ำเสียเข้าสู่กระบวนการกำจัด หากฝังกลบแล้วดินจะพูนสูงขึ้นมา 50 เซนติเมตร เพื่อให้การยุบตัวของดินแต่ละบ่อไม่ต่ำกว่าพื้นดินเดิม ในแต่ละบ่อจะบรรจุหมูได้ บ่อละ 1.5 ล้านกิโลกรัม โดยก่อนดำเนินการทำลาย ทางกรมปศุสัตว์จะเทน้ำยาฆ่าเชื้อที่บ่อและฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อที่ตัวกล่องเน่า เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 วัน วันละประมาณ 35 ตู้ ซึ่งการดำเนินการทำลายซากหมูเถื่อนทั้งหมดจะมีค่าใช้จ่าย จำนวน 12 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสายเรือที่รับบรรทุกสินค้า (ซากหมู) จำนวน 161 ตู้

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันฝังกลบซากสัตว์ที่แน่นอนจะต้องขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในจังหวัดสระแก้ว เพราะในช่วงเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม คาดว่าจะมีฝนตกและพายุ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินงาน ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดวันฝังกลบที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

สำหรับความคืบหน้าในคดีนี้นั้น พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนผู้กล่าวหา พยานสายเรือ พยานผู้จัดทำระบบเอกชน ที่บริษัทผู้นำเข้ามาขอใช้บริการ ซึ่งเดิมมีผู้นำเข้าสินค้า (ซากหมู) จากเดิม 10 บริษัท ได้สอบสวนขยายผลไปเป็น 18 บริษัท อยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติบุคคลบริษัทที่ขยายผลเพื่อจะทราบตัวผู้กระทำความผิด และจากการตรวจสอบพบว่าในจำนวน 161 ตู้ มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่างกรรมต่างวาระ จึงจำเป็นต้องมีการแยกสำนวนการสอบสวนออกเป็นการกระทำความผิดแต่ละกรรมไป จะแยกสำนวนการสอบสวนออกเป็น 10 สำนวน การสอบสวนแยกตามบริษัทที่ร่วมกันกระทำความผิด และจะมีการสอบสวนขยายผลถึงกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังในการนำเข้าซากหมูเถื่อนในครั้งนี้ต่อไป

นอกจากนี้ทีมสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีกลุ่มบริษัทอีกประมาณ 9 บริษัท ได้นำเข้าตู้สินค้าที่สำแดงเป็นสินค้าชนิดอื่น อีกประมาณ 2,385 ตู้ ซึ่งได้นำออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปแล้ว ซึ่งในส่วนนี้คณะพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีการกระทำความผิดในข้อหาที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการต่อไป.