เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 66 นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็น 1 ในจำนวนรายชื่อ 35 คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 เป็นต้นมา มีกระแสเรียกร้องจากหลายภาคส่วน เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแนวทางในการดำเนินการนั้น หลายฝ่ายยังคงมีความเห็นที่ไม่สอดคล้อง

โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ หรือไม่ จนนำไปสู่การที่ประธานรัฐสภาส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2564 ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ด้วยเหตุนี้หากจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่

การแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นี้ เป็นนโยบายเร่งด่วนสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และยังคงยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ในคำแถลงนโยบายดังกล่าว ได้กำหนดแนวทางในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2 ประการ คือ ประการแรก หารือแนวทางในการจัดทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

ประการที่สอง หารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง จากคำแถลงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ไว้ต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน ในการออกกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ตลอดจนสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยวานนี้ (3 ตุลาคม 2566) นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม จำนวน 35 ท่าน ทั้งนี้ จะเริ่มประชุมครั้งแรกในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดกรอบในการทำงานต่อไป

ตนในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติในครั้งนี้ด้วย รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านกฎหมายมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ มุมมองส่วนตัวเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นหากเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชน และไม่แก้ไขในหมวด 1 หมวด 2 รวมถึงบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็พร้อมจะสนับสนุน ส่วนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงต้องยึดตามกรอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ที่สำคัญหากจะแก้ไขก็ต้องทำให้สำเร็จด้วย เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ และอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมกันในการมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดยเชื่อมั่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จในสมัยของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี เพื่อมอบให้เป็นของขวัญกับประชาชนทั้งประเทศ