เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จ.สมุทรสงคราม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่ เดลินิวส์-มติชน จัดทำโพลให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและความต้องการเพื่อสะท้อนไปยังรัฐบาลชุดนี้ ตนว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจะได้รับรู้ปัญหาและความต้องการจากพื้นที่ตรงจุด ส่วนปัญหาระหว่างการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจนั้น ตนมองว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองมันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทุกมิติ เศรษฐกิจเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน ส่วนการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่นักการเมือง เมื่ออาสาประชาชนเข้ามาแล้วก็ต้องทำเพื่อประชาชนให้มากที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ก็เช่นกัน อย่าทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง ขอให้นึกถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก หากรัฐบาลทำอะไรโปร่งใส ก็จะทําให้วนกลับมาทําให้เศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนดีขึ้น

สำหรับ จ.สมุทรสงคราม ประชาชนยังมีปัญหาเรื่องปากท้องหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประมง ที่จะต้องแก้ไขกฎหมายที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อนมากเพราะทำกินลำบาก แต่หากพวกเขาประกอบอาชีพได้อย่างสะดวก เศรษฐกิจภาคประมงก็จะดีขึ้น เช่นเดียวกับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะมะพร้าวผลราคาตกต่ำต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือลูกละ 4-5 บาท ซึ่งไม่คุ้มทุน จึงเป็นปัญหาปากท้องที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะต้องไปแก้กฎหมายหลายเรื่อง เหล่านี้ก็คือปัญหาของพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม

นายอานุภาพ กล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องที่ล่าสุดตนได้ปรึกษาหารือในสภา เกี่ยวกับกรณีโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า สมุทรสงคราม ซึ่งที่เป็นโรงพยาบาลประจําจังหวัด รับผิดชอบดูแลประชากรในพื้นที่เกือบ 2 แสนคน แต่สภาพปัจจุบันมีความแออัดทั้งเรื่องที่จอดรถ เรื่องสถานที่หน่วยบริการทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลยังไม่เพียงพอ ผู้อํานวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้จัดทําโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ความสูง 10 ชั้น เสนอกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปีงบประมาณ 2567 แล้ว ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติจัดสรร ตนจึงเป็นปากเสียงพูดเรื่องนี้ในสภา เร่งรัดให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณโดยด่วน เพราะถ้าเราได้รับงบประมาณก่อสร้างมาแล้ว ก็จะทําให้ชาวสมุทรสงครามเข้าถึงระบบสาธารณสุข การรักษาพยาบาลจะครอบคลุมในหลายด้านมากขึ้น

ส่วนเรื่องการกระจายอํานาจมาสู่ท้องถิ่นนั้น นายอานุภาพ บอกว่า งบประมาณส่วนใหญ่เราทราบกันดีว่าอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งบางทีก็ไม่ตอบโจทย์บริบทของพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมีปัญหาแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่น เพิ่มงบประมาณ และบุคลากรให้ท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาล มากขึ้น ก็จะทําให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างรวดเร็ว แล้วก็ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ประชาชนต้องการอีกด้วย