เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67 ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พบช้างป่าบาดเจ็บ จึงร้องขอให้เจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือ รักษาอย่างเร่งด่วน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง จึงได้ประสานทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา), หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า, หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่), สัตวบาลประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน, เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว, เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว, เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง เข้าตรวจประเมินอาการและรักษา

จากนั้น นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จึงสนธิกำลังลงพื้นที่พร้อมรักษาช้างป่าเพศผู้ ชื่อหูปลิ้น 1 ตัว อายุประมาณ 35-40 ปี พบมีอาการบาดเจ็บบริเวณขาหลังขวา มีอาการเดินกะเผลก เดินลงน้ำหนักขาหลังขวาไม่ปกติ (ไม่เต็มเท้า) เดินวนเวียนในพื้นที่ ซึ่งมีความยากลำบากในการเข้ารักษา เพราะช้างลงแช่สระน้ำเพื่อช่วยประคองตัว และบรรเทาปวดตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังมีช้างป่าอีกสองตัวที่เดินวนเวียน อาจเข้ามาต่อสู้ หรือทำอันตรายแก่เจ้าหน้าที่

จากการตรวจประเมินบาดแผลตามร่างกาย พบความผิดปกติ ได้แก่ มีบาดแผลบริเวณเหนือฝ่าเท้าหลังขวา ลักษณะแผลเป็นรู ติดเชื้อ มีหนอง มีกลิ่นเหม็น ความลึกเข้าไปประมาณ 3 นิ้ว สันนิษฐานว่าแผลดังกล่าว อาจเกิดจากการที่ช้างป่าเดินไปเตะสิ่งวัสดุแหลมคมจนเกิดบาดแผลขึ้น ผลการใช้เครื่องสแกนโลหะไม่พบโลหะในตัวช้างป่าแต่อย่างใด มีบาดแผลบริเวณข้อขาหลังซ้าย เป็นแผลตื้นอยู่ในชั้นผิวหนัง และขาหลังซ้ายบวม เนื่องจากการรองรับน้ำหนักตัวช่วงท้ายมาก จากการที่ขาหลังขวาอักเสบ


จึงได้ทำการรักษาโดยการวางยาซึมช้าง ให้ยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์ได้นาน 7 วัน, ยาลดปวด ยาลดอักเสบ, ยาถ่ายพยาธิและกำจัดปรสิตภายนอกร่างกาย, วิตามินบำรุงเลือด, วิตามินบำรุงกล้ามเนื้อ, วัคซีนป้องกันบาดทะยัก, ให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดดำ, ทำการล้างแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณบาดแผลทั้งสองตำแหน่ง ทำการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจสุขภาพ ตรวจโรค EEHV เมื่อทำการตรวจรักษาเสร็จแล้ว จึงให้ยาแก้ฤทธิ์ยาซึม พบว่าช้างฟื้นจากยาซึมได้ปกติ และประสานงานเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านร่วมตรวจประเมินอาการต่อเนื่องต่อไป.