เมื่อวันที่ 29 มี.ค. เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมอำเภอเมือง โรงแรมเทพนคร จังหวัดบุรีรัมย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมมอบแนวทางการดำเนินงานของสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้นำในการเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2567 โดยมี นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นางวาทิณี โฆษาศิวิไลซ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย คณะอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานแม่บ้านมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และจังหวัดอุบลราชธานี รวม 300 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราชาวมหาดไทยและสมาชิกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยทุกคน ที่ได้มีโอกาสรับฟังสิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิต โดยเป็นการรับฟังเทปบันทึกการบรรยายพิเศษจาก แพทย์หญิง พักตร์พิไล ทวีสิน ประธานกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี มาบรรยายให้ความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ “ส่งเสริมสร้างสุขอนามัยให้แก่แม่และเด็ก เติบโตอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ” ซึ่งเป็นการแนะนำให้ความรู้ว่าจะทำอย่างไรให้เรามีอายุยืนยาว ทำให้ทุกท่านจะได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ ทั้งชายหญิง ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งสิ่งที่ท่านเน้นย้ำเรื่องการรับประทานไข่ เพราะไข่มีประโยชน์ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้มีความจำดี ทำให้มีร่างกายแข็งแรง ดังนั้น ไข่จึงเป็นอาหารที่มหัศจรรย์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมให้พวกเรากินอาหารที่มีโปรตีน ทั้งเรื่องการรับประทานปลาที่มีโปรตีนสูง ตลอดจนทรงตรัสถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็น “พ่อเมือง” ในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน จึงขอให้พวกเราทุกคนจงภาคภูมิใจว่า เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้ฝากความหวังไว้กับพวกเราชาวมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทยทุกคนที่จะช่วยกันทำหน้าที่เป็นคุณแม่และคุณพ่อ แนะนำช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านได้นำความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมากที่จะได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากแพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ไปร่วมกันทำกิจกรรม ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน และสังคมได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีสุขภาพกายและจิตใจที่แข็งแรง

สำหรับการบรรยายพิเศษของแพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ประธานกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความรู้ โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้ “การส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยให้แก่แม่และเด็ก เริ่มต้นที่การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเราควรจะต้องกินอาหารที่ดีต่อร่างกาย นั่นคือผักสดและผลไม้ที่ไม่หวานครบ 7 สี และควรรับประทานมากกว่า 60% ในแต่ละมื้อ ซึ่งผักและผลไม้จะช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ดังนั้น เด็กเล็กหลังจากที่หย่านมแม่แล้ว ควรรับประทานผักเขียว เพื่อจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินแร่ธาตุสารอาหารที่ครบถ้วน ซึ่งพืชผักผลไม้เหล่านี้จะช่วยทำให้ร่างกายเป็นด่างช่วยรักษาสมดุลร่างกาย ในส่วนอาหารที่ทำให้ร่างกายเป็นกรดควรหลีกเลี่ยง อาทิ ของทอดที่มีไขมัน สารเคมี ผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ น้ำ เหล้า ยา กาแฟ อาหารแปรรูป เนย ชีส มาจากการหมักเชื้อรา ในส่วนของผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ มีส่วนผสมของน้ำตาลแลคโตส ที่ร่างกายของเราไม่สามารถย่อยอาหารได้ หากเราดื่มนมจากสัตว์ รับประทานเนย ชีส จำนวนมากเกินไป เชื้อราที่ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งที่ร่างกายย่อยไม่ได้จะเกิดขึ้น ทำให้เกิดภาวะการเจริญเติบโตของเชื้อราในร่างกายมากเกินไป เป็นสาเหตุทำให้เกิดภูมิแพ้ในร่างกาย ซึ่งมีงานวิจัยต่างชาติพิสูจน์ว่านมจากสัตว์ เนย ชีส ทำให้ร่างกายเป็นกรดมาก ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นให้ดูดซึมแคลเซียมออกจากกระดูก ส่งผลทำให้เกิดกระดูกบาง มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกสะโพกหัก นอกจากนี้ยังจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ฉะนั้น การดื่มนมไม่ใช่แปลว่ากระดูกจะแข็งแรง แต่ทำให้มีความเสี่ยงของโรคมากขึ้น อาทิ ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคเบาหวาน”

“ไข่ คือ อาหารที่เป็นตัวเลือกในการทดแทน ผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ได้ ซึ่งไข่แดงจะอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันคอเลสเตอรอล วิตามิน และสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน และให้พลังงานต่อร่างกาย ซึ่งการรับประทานไข่ที่ดีจะต้องปรุงอาหารโดยไม่เกิน 100 องศา เช่น ไข่ต้ม ไข่ลวก ที่ปราศจากกรรมวิธีการทอด จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อร่างกาย หากเราเทียบสารอาหารระหว่าง กล้วย นม และไข่ เห็นได้ชัดว่า “ไข่” มีวิตามินและแร่ธาตุสารอาหารที่สูงกว่ามาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ “ไข่ไม่มีน้ำตาล” ซึ่งประโยชน์ของไข่ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกระดูก ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงสายตา เป็นต้น ในส่วนของน้ำตาล หากเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลจำนวนมาก จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เพิ่มระดับไขมัน ขอให้เกิดโรคภูมิแพ้และโรคหัวใจ ซึ่งน้ำตาลที่เราควรจะรับประทาน คือ ฟรุกโตสจากน้ำตาลผลไม้ ซึ่งเส้นใยไฟเบอร์จากผลไม้จะช่วยชะลอการดูดซึม น้ำตาลจากลำไส้ ตรงข้ามกับพวกฟรุกโตสจากไซรัปข้าวโพดที่ผสมในเครื่องดื่มขนมขบเคี้ยว เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เป็นน้ำตาลเทียม ซึ่งจะทำลายตับ ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้” แพทย์หญิงพักตร์พิไล กล่าวในช่วงต้น

แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ประธานกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า “น้ำ” จึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นส่วนประกอบของทุกสิ่งทุกอย่างบนร่างกาย ร่างกายเรามีน้ำมากกว่า 70% ซึ่งผู้หญิงต้องการน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ส่วนผู้ชายต้องการน้ำอย่างน้อยวันละ 10 แก้ว หากร่างกายขาดน้ำเพียงนิดเดียว หรือ 2% จะมีผลต่อการทำงานของร่างกายผิดปกติ และหากร่างกายเราขาดน้ำอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นนิ่วทางเดินปัสสาวะมะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินปัสสาวะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคอ้วน ต่อมน้ำลายทำงานเกิดผิดปกติ สุขภาพทรุดโทรม ซึ่งน้ำจะทำให้ร่างกายเป็นด่าง จึงแนะนำให้ทุกคนได้ดื่มน้ำแร่ เช่นเดียวกับพืชผักผลไม้ที่มีเกลือแร่ การกินน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่มีเกลือแร่จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของร่างกายควบคู่กับอาหาร คือ การออกกำลังกาย หากออกกำลังกายทุกวันก็จะมีสุขภาพดี การออกกำลังกายที่เราชอบก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งควรออกกำลังกายไม่ต่ำกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และทำอย่างต่อเนื่อง 3 เดือน จะทำให้เรารู้สึกชินกับการออกกำลังกาย และจะหลั่งสารทำให้เรามีความสุข ทำให้เราไม่อยากหยุดออกกำลังกาย เช่นเดียวกันกับการนอนหลับก็มีความสำคัญ การนอนที่ดี คือ ห้องต้องมีความมืดสนิท ห้องนอนไม่ควรชาร์จโทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ พวกนี้จะมีคลื่นสัญญาณแม่เหล็ก จะเป็นการรบกวนคลื่นในสมอง ทำให้สร้างโกรทฮอร์โมนออกมาซ่อมแซมร่างกาย เพราะการนอนหลับ คือ ทำให้ร่างกายซ่อมแซมตนเอง เราจึงควรนอนให้หลับสนิท อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งห้องนอนควรมืดสนิทไม่ควรเปิดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงห้องนอนต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 18.7 องศา ไม่เกิน 22 องศา

“การมีสุขภาพดีต้องมีการบริหารจัดการกับความเครียด การจัดการกับอารมณ์จิตใจ เพราะ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” การยิ้ม การหัวเราะเป็นยาอายุวัฒนะช่วยคลายเครียดได้ดีที่สุด การให้รอยยิ้มกับผู้อื่นคือการทำบุญทำทาน เราควรลดความเครียด ความกังวล ความซึมเศร้าในทุกวันตอนเช้า ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ลดความดันโลหิต เพิ่มสารแห่งความสุข ทำให้เราเพิ่มความสามารถในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการบริหารจัดการกับความเครียดช่วยให้เรามีอายุยืน การนั่งสมาธิหรือการสวดมนต์เป็นอีกหนึ่งการคลายเครียดที่ดีที่สุด เพราะการนั่งสมาธิจะได้ฝึกการหายใจเข้าหายใจออกลึก ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว เป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับสมอง ทั้งนี้ การมีความสุขต้องมาจากการสร้างครอบครัวสังคมที่มีความสุขร่วมกัน จะทำให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุข หากทุกคนต้องการมีสุขภาพที่ดี ต้องทำด้วยตนเอง การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คนในสังคมทุกคนก็จะมีความสุข” แพทย์หญิงพักตร์พิไล กล่าวตอนท้าย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า การบรรยายพิเศษของ แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ประธานกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ในหัวข้อ “ส่งเสริมสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กและแม่ เติบโตอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ” เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และทำให้เราได้รับความรู้มากมาย ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายให้เรามีร่างกายแข็งแรงและมีชีวิตยืนยาว ด้วยการรับประทานอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งการรับประทานไข่วันละ 2 ฟอง ทำให้พวกเราได้นำไปขับเคลื่อนขยายผลให้กับเกิดขึ้นในครอบครัวของคนมหาดไทย การรับประทานผัก 7 สีให้มีสารอาหารอย่างครบถ้วนในทุกวัน รวมถึงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน การจัดการอารมณ์และความเครียด เพื่อสุขอนามัยที่ดีของตนเองและครอบครัว รวมถึงการน้อมนำศีล 5 มาปรับใช้ในชีวิต หากเรามีศีลธรรมที่ดีในจิตใจก็จะทำให้เรามีความสุข ซึ่งสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เรามุ่งมั่นในการขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย ขยายผลไปสู่ในระดับพื้นที่ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน