พื้นที่มหาสมุทรมากกว่า 700 แห่ง มีปริมาณออกซิเจนอยู่ในระดับตํ่าจนอันตราย เมื่อเทียบกับอีก 45 แห่งในช่วงปี 2503 นักวิจัยระบุว่า การสูญเสียออกซิเจนในทะเลนี้ เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ทะเลหลายสปีชีส์ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ เช่น ฉลาม ปลาทูน่า และปลากระโทงทั้งหลาย ซึ่งภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของนํ้าทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนตํ่าลง ตอนนี้ มหาสมุทรจะสูญเสียปริมาณออกซิเจนไปอีก 3-4% ภายในปี 2643 และจะส่งผลกระทบต่อระดับนํ้าทะเลที่ 1,000 เมตรจากผิวนํ้า ซึ่งเป็นระดับที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด

จากข้อมูลคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า การทำประมงเกินขนาด รวมถึงปัญขยะพลาสติกในทะเล ต่างเป็นปัญหาใหญ่สำหรับมหาสมุทรทั่วโลก ตอนนี้ทะเลมีสภาพเป็นกรดมากกว่าในช่วงก่อนอุตสาหกรรม
มากกว่า 26% เนื่องจากดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในชั้นบรรยากาศ

“รัตนาวลี พูลสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา กรมประมง ระบุว่า นํ้าทะเลดูดซับพลังงานความร้อนของโลกไว้ 90% เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น และเมื่อรวมกับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ประมาณ 30% เป็นอีกตัวการที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนในนํ้าลดลง นำไปสู่สภาวะ “นํ้าทะเลมีความเป็นกรด” โดยเฉลี่ยนํ้าทะเลจะสูงขึ้นปีละประมาณ 3.1 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจะสูญเสียพื้นที่
ชายฝั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลวัยอ่อน แหล่งผสมพันธุ์ อย่างเต่า ปลา รวมถึงกุ้ง

รวมถึงชุมชนประมงชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน จะต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวไม่ได้ชาวประมงอาจสูญเสียอาชีพ หรือพึ่งพาท้องทะเลได้น้อยลง เพราะโลกร้อนทำให้การพยากรณ์อากาศแม่นยำน้อยลงในภาคการประมงนั้นต้องมีการรับมือการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลสามารถทำได้ด้วยการใช้นํ้าหรือทรัพยากรอย่างมีคุณค่า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบคุณภาพนํ้า และอุณหภูมินํ้าในแหล่งอนุบาลอีกด้วย

“การควบคุมนํ้าทะเลนั้นเป็นเรื่องที่ยากเพราะมีหลายปัจจัยอย่างภาวะโลกร้อน นํ้าเสียในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งการรับมือทำได้แค่ในเบื้องต้นเท่านั้น สัตว์ทะเลได้มีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดต่ออุณหภูมินํ้าที่เปลี่ยนไปมากขึ้น อย่างการเปลี่ยนฤดูกาลการวางไข่ การฟื้นตัวของปะการังที่ฟอกขาว แต่ก็ยังมีสัตว์ทะเลบางส่วน รวม 20-30% เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์”

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะเลร้อนขึ้นอย่างเร็ว และส่งผลรุนแรง ส่งผลต่อระบบนิเวศยํ่าแย่แน่นอน โดยเฉพาะปะการังที่จะโดนก่อนเพื่อน สำหรับทะเลไทย อุณหภูมินํ้าทะลุสถิติร้อนสุดเมื่อปีก่อนเรียบร้อยแล้ว ที่น่าเป็นห่วงเมื่อนํ้าทะเลร้อน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง สัตว์นํ้าหนี ตายประมงยํ่าแย่ เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าเกิดปัญหา

ขณะเดียวกันนํ้าทะเลร้อนยังเพิ่มพลังให้พายุ ภัยพิบัติเกิดบ่อยขึ้น และทำให้ดูดซับความร้อนได้น้อยลง ในอากาศย่อมร้อนขึ้นอย่างเร็ว เมื่อนํ้าทะเลร้อนจะดูดก๊าซเรือนกระจกได้น้อยลง ยิ่งเกิดการสะสมในบรรยากาศ โลกยิ่งร้อนขึ้น นํ้าแข็งขั้วโลกยิ่งละลาย ระดับนํ้าทะเลสูงขึ้นไวกว่าที่เคยคาดเกิดปัญหากับประเทศริมชายฝั่ง เช่น เมืองไทยของเรา ยังมีอีกหลายข้อ เมื่อทะเลใกล้หมดสภาพของการเป็นเครื่องกักเก็บความร้อนโลก อุณหภูมิจะสูงขึ้นเร็วเป็นก้าวกระโดด

สำหรับการแก้ปัญหา ขึ้นกับว่า เราจะเอาจริงแค่ไหน จะกล้าเจ็บตัวแค่ไหน ไม่มีการรักษาใดที่ไม่เจ็บไม่จ่ายตังค์ โลกร้อนก็เช่นกัน และยิ่งกว่านั้น เพราะเราทำกับโลกมานาน ปัญหาคือ เราเบือนหน้าหนีปัญหา พยายามซ่อนไว้ เราไม่อยากเจ็บตัวในวันนี้เพื่อผลในวันหน้า เพราะเราคิดว่า ความสบายเล็ก ๆ ในวันนี้ดีกว่าความเดือดร้อนใหญ่ ๆ ในวันหน้า นั่นทำให้เราไม่สามารถเจ็บแต่จบ เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่รอเราอยู่ คือ ความเดือดร้อน ที่น่าเศร้า คือ ความเดือดร้อนจะไม่เท่ากัน ผมอาจเบ้ปากเมื่อเจอบิลค่าไฟ แต่ชาวประมงที่ออกเรือไปหาปลา แต่ไม่ได้ปลา ชาวนาชาวสวนที่ฝนไม่ตกมา มันเจ็บปวดมากกว่าเยอะ

พูดได้ว่า ณ เวลานี้วิกฤติสภาพอากาศต่าง ๆ ได้ยํ้าเตือนแรง ๆ กับมนุษย์แล้ว ทั้งจากความร้อนที่รุนแรงขึ้น ไฟไหม้ป่าที่ถาโถม ใช้เวลาหลายเดือนกว่ายุติปัญหา พายุ ฝน พัดกระหนํ่า สร้างความเสียหายอย่างหนัก เหตุการณ์นํ้าท่วม สร้างความเสียหายทั้งภาคเกษตรกรรม ทั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงหน้าฝนที่ยาวนานกว่าปกติ สิ่งสำคัญที่สุดมนุษย์ต้องร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งเริ่มจากตัวเรา ครอบครัว องค์กร ภาครัฐ เปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สำรวจติดตาม เพื่อป้องกันแก้ปัญหาได้ทันท่วงที.