จากกรณีโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นนโยบายชูโรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5% แม้จะมีเสียงสะท้อนและคัดค้านอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยังติดตามว่ารัฐบาลเศรษฐาจะดำเนินต่อไปอย่างไร

ที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เปิดข้อมูลเบื้องต้นว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ต จะใช้จ่ายผ่าน ซูเปอร์แอป ตัวใหม่ไม่ใช่แอปเป๋าตังที่เคยใช้กับโครงการนโยบายรัฐอื่นๆ ซึ่งได้มีข้อมูลมาแล้ว 40 ล้านคน โดยเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะให้กับคนที่ได้รับการยืนยันตัวตน หรือ KYC มาแล้วเท่านั้น ตอนนี้ยังมีอีก 10 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ทำ KYC จะเริ่มต้นใช้จ่ายได้ในวันที่ 1 ก.พ. 2567

KYC คืออะไร?
KYC ย่อมาจากคำว่า Know Your Customer หรือแปลได้ว่า “การทำความรู้จักกับลูกค้า”
ซึ่งหมายถึง กระบวนการพิสูจน์ตัวตนในการทําความรู้จักลูกค้า ที่สามารถระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง (Identification and Verification) เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของลูกค้า ป้องกันการทุจริตหรือปลอมแปลงข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงเป็นการป้องกันการฟอกเงิน การสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าของข้อมูล และเป็นการป้องกันการแอบอ้างตัวตน เช่น กรณีที่เราไปเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร แล้วต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตน เป็นต้น

โดย KYC ถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ มีหน้าที่ต้องทํา KYC ให้กับลูกค้า เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการ e-Wallet และ e-Payment บริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของ ก.ล.ต. บริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต่างๆ เป็นต้น

กระบวนการ KYC ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน คือ 1.การแสดงตนของลูกค้า (Identification) และ 2.การพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (Verification) เพื่อให้สถาบันการเงินมีกระบวนการรู้จักตัวตนลูกค้า ว่าเป็นคนนี้จริงหรือไม่

ทำไมต้องทำ KYC หรือทำไมต้องยืนยันตัวตน?
การทำ KYC เป็นการช่วยป้องกันการทุจริตหรือปลอมแปลงข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงิน ป้องกันการแอบอ้างตัวตน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชัน หรือการฟอกเงิน นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในบริการให้กับลูกค้าและผู้ให้บริการมากขึ้น

การทำ KYC สามารถทำได้ 2 ช่องทาง
1.Face to Face
: การไปแสดงตนที่ธนาคาร เพื่อให้ธนาคารตรวจสอบบัตรประชาชนกับหน้าลูกค้าเจ้าของบัตรประชาชน
2.Online/ Mobile: ทำผ่านช่องทางออนไลน์ที่เรียกว่า E-KYC

ถ้าไม่ทํา KYC จะมีผลอย่างไร?
ลูกค้าจะไม่สามารถใช้ หรือทำธุรกรรมได้ เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญในการยืนยันตัว เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ และเป็นมาตรการป้องกันการทุจริตตามกฎหมาย

การยืนยันตัวตนที่เรียกว่า KYC (Know Your Customer) จึงเป็นกระบวนการเพื่อเป็นความปลอดภัย และป้องกันการความเสี่ยงการจากปลอมแปลงข้อมูลให้แก่ลูกค้า สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KYC ได้ที่เว็บไซต์ : http://www.bot.or.th

(ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาต ณ วันที่ 19 ต.ค. 66)