แต่ที่แน่ๆ เป็นโจทย์ร้อนของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่จะต้องเร่งอพยพคนไทยออกจากสงคราม พากลับบ้านสู่อ้อมกอดโดยเร็วที่สุด จึงได้เห็นภาพหน่วยงานต่างๆ เร่งมือระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ ทั้งประสานหาเครื่องบินจากภาครัฐและเอกชน นำแรงงานไทยกลับสู่ประเทศอย่างปลอดภัยให้เร็วที่สุด

การอพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ฉนวนกาซา กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศแจ้งว่า ขณะนี้ได้ออกมาเกือบหมดแล้ว อาจมีติดอยู่บ้าง เราได้ติดตามทุกช่องทาง หากใครมีการส่งข้อความขอความช่วยเหลือเข้ามา ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ จะเร่งเข้าไปช่วยเหลือทุกกรณี และตัวเลขล่าสุดที่กระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 19 ต.ค. มีคนไทยเสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 16 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย ลงทะเบียนขอกลับประเทศมี 8,273 คน มีผู้ที่ยังไม่ขอกลับประเทศ 115 คน และถึงไทยแล้วกว่าพันคน

ทั้งนี้ “นายกฯ เศรษฐา” ได้ร้องขอให้คนไทยที่ยังไม่ตัดสินใจ เร่งตัดสินใจว่าจะกลับหรือไม่กลับ หากแสดงความจำนง ว่าจะกลับ รัฐบาลต้องทำอย่างเต็มความสามารถ เพื่อลำเลียงคนออกมาให้เร็วและปลอดภัยที่สุด

ถึงแม้ “กลุ่มฮามาส-อิสราเอล” ยังทำสงครามกัน แต่ “นายกฯ เศรษฐา” ก็ไม่หวั่น สวมบททำหน้าที่เป็น “นายกฯ เซลส์แมน” คราวนี้ได้ออนท็อปขึ้นไปอีก เพราะจากการเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจัดขึ้น “นายกฯ เศรษฐา” ได้ไปจับมือกับ “ปูติน” นายวลาดิเมียร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย งานนี้ก็ได้มีการพูดคุยหารือกระชับสัมพันธ์ 2 ประเทศ พร้อมปลื้มที่ “ปูติน” กล่าวขอบคุณเป็นภาษาไทย

นอกจากนี้ “นายกฯ เศรษฐา” ยังได้กระทบไหล่ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมออกโรดโชว์ถึงศักยภาพของประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจมาทุนมาลงในประเทศไทย เป็นฉากสวยๆ เป็นความหวังของคนไทยที่จะมีนักธุรกิจมาลงทุนในประเทศ จะได้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย

มาดูการเมืองในประเทศยังร้อนไม่เบากับ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนักวิชาการ สส. สว. ภาคประชาชน ต่างออกมารุมสับ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทย มีข้อเสียหลายอย่าง อีกทั้งแหล่งที่มาของเงินก็ยังไม่ชัด ดูเป็นวาระซ่อนเร้นที่ใครๆ ก็รู้ทันว่า พรรคเพื่อไทยหวังผลการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเอางบประมาณไปซื้อเสียง ตกเขียวเพราะโครงการนี้ ผู้ที่มีสิทธิรับเงินจะต้องมีอายุ 16 ปี และอีก 2 ปี ก็จะมีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ไปเต็มๆ  

ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาตะโกนบอกให้ “นายกฯ เศรษฐา” ใคร่ควรให้ดีก่อน เพราะการเดินหน้าจะเกิดความเสียหายอย่างมากกับประเทศ ได้ไม่คุ้มเสีย พร้อมขอให้ยกเลิกโครงการนี้ไปเลย

อย่าง สมชาย แสวงการ สว. ออกมาย้ำให้เห็นสัญญาณอันตราย เพราะความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนักวิชาการ ไม่มีใครสนับสนุนเลย และสิ่งที่ทุกคนออกมาเตือน คือ จะเกิดหายนะทางการเงิน เป็นอันตรายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง  

นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล วาระร้อนที่ต้องนำกลับไปทบทวนให้ดี เพราะโครงการนี้ไม่ต่างอะไรจากโครงการรับจำนำข้าว อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ขอให้เลิกโครงการนี้ อย่าดันทุรัง อดีตนายกฯ ก็ต้องหนีไปต่างประเทศ รัฐมนตรีก็ติดคุก ข้าราชการที่ร่วมก็ติดคุก บทเรียนตรงนี้เป็นบทเรียนที่ต้องคิดให้ดี

นโยบายนี้ เพื่อไทยดูจะไม่ง่ายอย่างที่พรรคเพื่อไทยตั้งใจซะแล้ว เพราะมีเสียงคัดค้านดึงอื้ออึงมาก อีกทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ กกต. ยังจับมือกันตั้งกรรมการติดตามเรื่องนี้แล้ว พลาดมามีสิทธิสะดุดตกม้าตายก็เป็นได้

อีกทั้งยังมี “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ก็ไม่พลาดออกโรงพร้อมมวลชนจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล เพราะหากให้รัฐบาลเดินหน้าเสี่ยงทำชาติวิกฤติ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง เปิดช่องรายใหญ่ฟอกเงินสีเทา เชื่อคนรวยได้ประโยชน์ แต่อ้างคนจนบังหน้า ทั้งนี้ ในคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้ระงับโครงการดังกล่าวไว้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ตามมาด้วย อดีต สว.กทม. รสนา โตสิตระกูล ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล มีปัญหามิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้ง พ.ร.บ.เงินตรา และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ

จึงขอให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยับยั้งโครงการดังกล่าว ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

ล่าสุดคนของแบงค์ชาติ น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ยังได้ออกมาย้ำชัดในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณานโยบายของรัฐบาลว่าด้วยดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่เกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชน มองว่า ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการนี้ยังมีไม่มาก เนื่องจากภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง

แต่นโยบายโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องปักหมุดเดินหน้าต่อ ไม่หยุดแน่นอน อ้อนวอนขอทุกฝ่ายอย่ากังวล รัฐบาลยึดมั่นวินัยการเงินการคลังรัดกุม ไม่ดันทุรังไร้เหตุผลเพราะศึกษามาดีแล้ว ขอประชาชนมั่นใจนโยบายที่หาเสียงไว้ และเห็นใจคนหาเช้ากินค่ำ ชาวบ้านตาดำๆ ที่ต้องอดมื้อ กินมื้อ ต่างรอคอยเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทอยู่ และมีบางส่วนเป็นตัวแทนบุกไปให้กำลังใจที่พรรคเพื่อไทย เรียกร้องอยากให้พรรคเพื่อไทยทำตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ ก็เพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่โครงการนี้ดันสวนทางกับการเดินหน้าของพรรคเพื่อไทย เพราะยังไม่สามารถตอบคำถามใดๆ ได้ชัดเจน โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงิน จึงถูกรุมโดนสหบาทาแทบกระอักเลือด

ล่าสุดอาจเจอโรคเลื่อน จากการที่ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ออกมาบอกว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดในวันที่ 1 ก.พ. 67 นี้ เนื่องจากอุปสรรคการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการแจกเงิน อาจจะมีความล่าช้า เพราะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด แต่ยืนยันว่า เราจะดำเนินการให้แล้วเสร็จและสามารถแจกเงินได้ทันภายในไตรมาสแรกของปีหน้า ขณะที่เรื่องของแหล่งเงิน และเงื่อนไขในการแจก ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดได้ ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการจึงเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 24 ต.ค. นี้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะรีบเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ทันที

ขณะที่ อดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ออกมาปูดแผนการของ “รัฐบาลเศรษฐา” ว่า หากจะแจกเงินดิจิทัลในวันที่ 1 ก.พ. 67 ตามคำพูดต้องกู้ออมสินอย่างเดียวไม่พอ ต้องออกกู้เงินภายนอกด้วย จึงต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้ช่วงปิดสภา และสภาจะปิดสมัยประชุมวันที่ 31 ต.ค. 2566 และอ้างเหตุความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นี่คือคำตอบที่ว่า ทำไมรัฐบาลไม่ยอมบอกแหล่งที่มาของเงิน ให้รอถึงปลายเดือน ต.ค. ก่อน จึงตอบแทนได้ว่า คือ ต้องกู้มาแจก และจะกู้ได้ต้องรอจังหวะปิดสภา ออก พ.ร.ก.เงินกู้ จังหวะนี้เลยจำเป็นต้องให้ประชาชนช่วยกันเรียกร้องให้มากว่า อยากให้รัฐบาลแจกเงินเพราะเดือดร้อนมาก เพื่อเป็นเหตุผลรองรับการออก พ.ร.ก. ผมล้างกระเป๋ารอรับเงิน 1 ก.พ. 2567

งานนี้ไม่ว่าจะกู้เงินจากตรงไหนก็ตาม ก็ขอให้ทำตามระบบควบคุมเงินไม่ให้รั่วไหลเกิดทุจริต ทุกย่างก้าวต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะกระบวนการตรวจสอบเริ่มขยับทำงานอย่างเข้มข้นแล้ว

และหวังว่ากลุ่มที่ตรวจสอบ ต้องทำงานตามกรอบของกฎหมาย การปลุกกระแสช่วยกันตรวจสอบเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าทำอะไรเกินขอบเขต ก็ให้ดูตัวอย่างของ 11 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์ เป็นคนล้มละลาย กรณีถูก ทอท. เรียกค่าเสียหายคดีปิดสนามบิน.