ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการน้ำตาลว่า ราคาน้ำตาลทรายในประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานประมาณ กก.ละ 4 บาท ภายในเดือน ต.ค. นี้ โดยแบ่งเป็นการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น กก.ละ 2 บาท และการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลโดยไม่ใช้วิธีการเผา เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกในประเทศต้องปรับขึ้นตาม

ปัจจุบัน ราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ กก.ละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกในท้องตลาด น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25 บาท และหากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติให้ขึ้นราคาได้อีก กก.ละ 4 บาทจริง จะมีผลให้ราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาปรับขึ้นเป็น กก.ละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ปรับขึ้นเป็น กก.ละ 24 บาท ขณะที่ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 28 -29 บาทตามลำดับ

“หลังจากที่ราคาหน้าโรงงานเพิ่งปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 1.75 บาท เป็น กก.ละ 19 บาท และ กก.ละ 20 บาทเมื่อเดือน ม.ค. 66 อีกทั้งยังอาจกระทบทำให้ราคาสินค้าอื่นๆ ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบ ต้องปรับขึ้นราคาตาม โดยเฉพาะเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง นมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงขนม เบเกอรี่ อาหาร ซึ่งจะกระทบภาระค่าครองชีพของคนไทยปรับตัวสูงขึ้นอีก” 

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า ความพยายามปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศครั้งนี้ เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก จากราคาอ้อยที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งคาดว่าการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 66/67 ผลผลิตอ้อยอาจเหลือเพียง 75-80 ล้านตัน หรือลดลงประมาณ 10% จากปี 65/66 รวมถึงมีความต้องการทำให้ราคาน้ำตาลของไทยเท่ากับราคาตลาดโลก ที่ กก.ละ 27 บาท

“แต่เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรมสำหรับคนไทย เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่รายหนึ่งของโลก การบริโภคน้ำตาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกจึงสมควรแล้ว เหมือนผู้บริโภคประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ที่ซื้อน้ำมันราคาต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ผลิตมาก อีกทั้งไม่จำเป็นที่คนไทยต้องแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับผู้บริโภคประเทศอื่นที่นำเข้าน้ำตาล”

นอกจากนี้ การเก็บเงินเข้ากองทุน กก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลโดยไม่ใช้วิธีการเผา เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 นั้น ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคคนไทยเช่นกัน ที่จะต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ ทั้งๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โรงงานน้ำตาล และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องแก้ปัญหา แต่กลับผลักภาระให้ประชาชน

ส่วนราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก เป็นผลจากอินเดีย ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก ประสบปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตอ้อยลดลงมาก จึงประกาศห้ามส่งออกน้ำตาลดิบ น้ำตาทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65-31 ต.ค. 66 และล่าสุดเพิ่งประกาศขยายเวลาห้ามส่งออกต่อไปอย่างไม่มีกำหนด จึงยิ่งผลักดันให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้น