เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เครือมติชน เดลินิวส์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมจัดเวทีสรุปโพล เดลินิวส์ x มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? โดยมีการเสวนาในหัวข้อ รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการ-คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ เข้าร่วม  

ทั้งนี้ช่วงหนึ่ง นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ผลโพลไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ ที่ต้องการให้ลดค่าครองชีพ ค่าพลังงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องการรายได้เพิ่มขึ้น ต้องการแก้ปัญหาหนี้สิน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่รายละเอียด อยู่ที่กลุ่มคน รายได้ พื้นที่ การศึกษาที่ต่างกัน สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น คือ ประชาชนมีความตื่นรู้มากขึ้น เกี่ยวกับปัญหาโครงสร้างการเมือง แม้จะไม่ใช่อันดับหนึ่งที่ต้องการให้แก้ปัญหาก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่มาจากปัญหาโครงสร้างที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น 

“การแก้ปัญหาที่สำคัญ คือ การแก้ระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ประเทศนี้ไม่ยุติธรรมเพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ มีหลายมาตรฐาน ส่วนปัญหาเศรษฐกิจ ที่น้ำมันแพง มีหนี้สิน ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ขยัน หรือไม่มีวินัยทางการเมือง แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ รัฐบาลต้องทำงานด้านโครงสร้างมากขึ้น จะให้ยาแก้ปวดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องผ่าตัด เพราะระบบทุนนิยม ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ อำนาจทุนผูกขาด เป็นที่มาของความไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้นจึงต้องแก้โคงรสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม อำนาจผูกขาด แต่ถ้าเราอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้” 

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นความหวังของผลโพล คือ ประชาชนตื่นรู้ถึงความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ต้องเบาลง แต่ไม่ได้หมดไป การทำงานแบบอุปถัมภ์ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม รัฐบาลต้องทำมากกว่าการให้ยาแก้ปวด แต่ก็ต้องให้ ไม่ให้ก็อยู่ลำบาก ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท สิ่งสำคัญคือประเมินภาวะเศรษฐกิจ ในมุมของเศรษฐศาสตร์ การกู้เงินมาแจกยิ่งไม่มีความจำเป็น แต่ก็เข้าใจว่าเป็นนโยบายหาเสียงของรัฐบาล หากกู้เงิน 5 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะของไทยก็ยังไม่เกิน 70% ของจีดีพี แต่ถ้าเกิดภาวะเสี่ยงด้านวินัยการคลัง ก็ต้องนำไปพิจารณา ซึ่งน่าจะขัดกับหลักนิติศาสตร์ ดังนั้นรัฐบาลจึงออกเป็น พ.ร.บ. เพราะต้องผ่านด่านสภา ถ้าทำไม่ได้รัฐบาลก็ลอยตัว เพราะพยายามทำ แต่ขัดต่อกฎหมายจึงทำไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ก็ต้องระวังความเสี่ยง สิ่งที่ทำได้คือ ลดขนาด พร้อมมีมาตรการเสริม แปลงเป็นการลงทุน การประกอบอาชีพ แบบนี้จะยั่งยืน เพราะตอนนี้เงินที่จะได้ส่วนใหญ่นำไปบริโภค  

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาคจึงไม่จำเป็นมาก แต่ถ้ารัฐบาลอยากทำก็ทำไป เพราะหาเสียงมาแล้ว แต่เมื่อดูภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ เริ่มมีการเติบโตของเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวขยายตัว ส่งออกเริ่มมีสัญญาณเป็นบวก ภาคการลงทุนทยอยฟื้นตัว ในขณะที่ยังมีตัวแปรเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น สงครามอิสราเอล ระดับรายได้ประชาชาติ รายจ่ายภาคเอกชน อัตราแลกเปลี่ยน ระดับอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งจุดเปลี่ยนระบบการเงิน ทั้งบทบาทของทองคำ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ผลของการแตกตัวของโลกาภิวัตน์ เป็นต้น และนี่คือสิ่งสำคัญจากปัญหาระบบใหญ่ที่กระทบกับทุกคน  

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนตัวอยากให้พรรคก้าวไกลจับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะมีเสียง สว. 250 เสียง ทุกคนก็ต้องช่วงชิงกัน แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย ก็ควรเอาก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง เอาก้าวไกลเข้ามา เอาพรรคอื่นออก เพราะตอนนี้หากดูคนคุมกระทรวงพลังงาน ไม่มีทางปฏิรูปอะไรได้ รวมทั้งกระทรวงกลาโหม แต่พรรคก้าวไกลจะมีพลังในการขับเคลื่อนที่แรงมาก ผลโพลที่ถามประชาชน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มีปัญหาโครงสร้างซ่อนอยู่ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มันเป็นการตอบโจทย์ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่ก็อาจมีการชะลอให้นานที่สุด ค่าแรงงานขั้นต่ำ 600 บาท ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หากมีการทำอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมนั้น เจ้าของที่มีประชาธิปไตย ต้องชอบ เพราะเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเยอะมาก ลูกจ้างไม่มีปากเสียง แต้ถ้ามีอนุสัญญาตัวนี้ ลูกจ้างจะเข้มแข็ง ผู้ประกอบการจะทำแบบเดิมกับลูกจ้างไม่ได้ มิติแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ  

นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบทบาทของกลุ่มเจ้าสัว ตนเคยทำงานกับเจ้าสัว ในช่วงทำงานใหม่ๆ สิ่งที่ตนเห็น คือ เจ้าสัวปรับตัว แม้มีสายสัมพันธ์กับทาการเมือง แต่เมื่อมีการแข่งขันด้านการตลาด เจ้าสัวกลุ่มนี้จะอยู่รอด แต่มีกลุ่มทุนบางกลุ่มก็อยู่ไม่ได้ เพราะหลายคนไม่ได้มีความเชื่อทางการเมืองที่ชัดเจน กลุ่มชนชั้นสูงของสยามประเทศ ปรับตัวได้ดีที่สุดหากดูในประวัติศาสตร์สยามหรือประเทศไทย กลุ่มจารีตปรับตัวได้เก่งที่สุด โดยภูมิหลังจะเป็นนักปฏิรูป สยามไม่เคยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่รุนแรง มีแต่การเปลี่ยนแปลงแบบผ่อน คือ ค่อยๆ ปรับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่แล้วกลุ่มชนชั้นสูงจะลุแก่อำนาจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรต่อสู้อยู่ในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ท้องถนน กลุ่มอนุรักษนิยมล้าหลังก็ตั้งพรรคการเมืองมาสู้กัน คนส่วนน้อยกุมศาล กุมกองทัพ แต่ประชาชนส่วนใหญ่กุมระบบเลือกตั้ง เพราะผลการเลือกตั้งปี 66 ประชาชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคม.