เมื่อวันที่ 15 พ.ย. กองทัพบก ได้รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกล่อลวงไปทำงานในเมืองเล่าก์ก่าย รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ถึงกระทรวงกลาโหม โดยเป็นแผนการรับตัวคนไทย จำนวน 41 คน จาก จ.ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กลับประเทศไทย โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไทย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองกำลังว้า กองทัพบกได้ใช้กลไกความร่วมมือด้านการทหาร ผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย-เมียนมา (Township Border Committee : TBC) ประสานขอให้กองกำลังกลุ่มว้า เคลื่อนย้ายคนไทยจำนวน 41 คน จากเมืองหนานเติ้ง มาส่งมอบให้กับทหารเมียนมา ในพื้นที่ จ.เชียงตุง รัฐฉาน 

จากนั้นภาคทหารบกสามเหลี่ยมจะเคลื่อนย้ายคนไทยจาก จ.เชียงตุง มาส่งมอบให้กับ กองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยการปฏิบัติ กองกำลังกลุ่มว้า จะเริ่มเคลื่อนย้ายคนไทย ใน 14 พ.ย. นี้ และคนไทยทั้ง 41 คน จะถูกส่งตัวได้อย่างเร็วที่สุด ในวันที่ 16 พ.ย. และอย่างช้าที่สุด ไม่เกินวันที่ 17 พ.ย. โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการเดินทางตั้งแต่เมืองหนานเติ้งจนถึง จ.ท่าขี้เหล็ก และส่งมอบให้กับ กองทัพบกที่ อ.แม่สาย ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน 

ทั้งนี้ เมื่อคนไทยทั้ง 41 คน เดินทางถึงกองบังคับการกรมยุทธศึกษาทหารบกแขวงท่าขี้เหล็ก (บก.ยศ.ท่าขี้เหล็ก) ผู้บังคับการเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ฝ่ายไทย จะนำรถโดยสารปรับอากาศ (จัดจาก มทบ.37) เข้าไปรับคนไทย ออกจาก บก.ยศ.ท่าขี้เหล็ก จ.ท่าขี้เหล็ก โดยใช้ช่องทางจุดผ่านแดนถาวรสะพานฯ แห่งที่ 2 อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย  และเมื่อรับตัวคนไทยเดินทางมาถึงจุดผ่านแดนถาวรสะพานฯ แห่งที่ 2 จะดำเนินการคัดกรองโรค โดย รพ.ค่ายเม็งรายมหาราช และรับประทานอาหาร ณ อาคารด่านศุลกากร ประจำจุดผ่านแดนถาวรสะพานฯ แห่งที่ 2 รวมทั้งดำเนินกรรมวิธีของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่อไป  

ส่วนคนไทย จำนวน 246 คน ที่อยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างประสานการปฏิบัติกับเมียนมา และจีน เพื่อขอรับตัวคนไทยในกลุ่มนี้กลับประเทศไทย ซึ่งมีขั้นตอนและใช้ระยะเวลา อย่างไรก็ตามกองทัพบก โดยทีมประสานงานที่รับผิดชอบ ร่วมกับมูลนิธิเอ็มมานูเอล (IMF Thailand) จะประสานการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องทุกมิติ ติดตามและประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อวางแผนความเป็นไปได้ในการเคลื่อนย้ายคนไทย ที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่อีก 3 กลุ่มข้างต้น รวม 246 คน ให้ได้กลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ.