กรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากหน้าเสาธง เทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา หลังถูกคนร้ายเข้าไปลักลอบตัดที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ในคืนวันที่ 25 ก.ค.66 และต่อมาชาวบ้านได้แจ้งเบาะแสพบการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหลายแห่ง เช่นที่ โรงเรียนคำไฮวิทยา โรงเรียนหนองโนวิทยาคม จำนวนหลายต้น ท่ามกลางข้อสงสัยในสาเหตุการตัดไม้พะยูงขาย และราคาขายที่ต่ำผิดปกติ เรียกร้องให้ทางจังหวัด ร่วมทั้งองค์กรอิสระลงพื้นที่ตรวจสอบ ถึงความไม่โปร่งใส และเชื่อว่าทำเป็นขบวนการ ลักษณะของการ “ฟอกขาว” ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

“กมธ.ป.ป.ช.”เกาะติดคดีไม้พะยูงกาฬสินธุ์ ลั่นใครผิดต้องรับผิดชอบ!

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่สำนักงานตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีไม้พะยูงของกลางหายไปจากหน้าเสาธง เทศบาลตำบลอิตื้อ เริ่มจากเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูง ที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด 1 ต้น คนร้ายตัดส่วนของลำต้นไปประมาณ 3 เมตร ต่อมาเจ้าหน้าที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ฯ เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนสูง จากนั้นพนักงานสอบสวนร่วมกับผู้นำชุมชน ทำการตรวจยึดไม้ของกลางที่เหลือ โดยตัดทอนเป็นท่อน 7 ท่อน มาเก็บไว้หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. มีการจัดเวรยามก่อนที่ไม้พะยูงของกลางจะหายไป ในคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ต่อมาเจ้าหน้าที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ฯ ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.โนนสูงเป็นครั้งที่ 2 และมีการดำเนินการติดตามสืบสวน สอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

“กระทั่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง สรุปสำนวนคดีสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ระบุมีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายก ทต.อิตื้อ, คนขับรถนายก ทต.อิตื้อ, เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 3 คน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน 3 คน รวม 8 คน โดยส่งสำนวนไปที่ ป.ป.ช.จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ทราบจากพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง เจ้าของคดีว่า ทาง ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าว กลับมาที่สภ.โนนสูง เพื่อดำเนินการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนก็จะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสำนวนด้วยตัวเองในลำดับต่อไป ทั้งนี้เบื้องต้นทราบว่า ป.ป.ช.มีความเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง และมีการซื้อขายไม้ของกลางไปจริง ซึ่งหลังจากตรวจสอบแล้วก็จะได้ส่งสำนวนส่งอัยการทุจริตในลำดับต่อไป” พล.ต.ต.ตรีวิทย์กล่าว

พล.ต.ต.ตรีวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุนั้น ทราบว่าวันที่ 17 ส.ค.66 ชาวบ้านได้มีการแจ้งเหตุผ่าน กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จำนวน 17 ต้น ตรวจพบเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ระบุมีหนังสือโต้ตอบระหว่างโรงเรียนฯ-สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่องขออนุญาตตัดและให้อนุญาตตัดไม้พะยูงจำหน่าย จำนวน 22 ต้น กับอีก 2 ตอ จำนวนเงิน 153,000 บาท

“ต่อมา ยังมีชาวบ้านแจ้งเบาะแสการตัดไม้พะยูงมาที่ กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ยังพบว่ามีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกัน บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนกันกับกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เม.ย.66 ไม้พะยูงถูกตัดขาย 9 ต้น ราคา 104,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งเหตุ ตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 3 ต้น ราคา 30,000 บาท ในช่วงเดือน ก.ย.66 ยังมีการแจ้งเบาะแสการตัดไม้พะยูง รวมทั้งเหตุลักลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียน และในที่ราชพัสดุอีกหลายครั้ง” พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ย้ำ

พล.ต.ต.ตรีวิทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนต่างๆ ดังกล่าว ทราบว่าอยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานระดับจังหวัดและป.ป.ช. รวมทั้งองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม หาก ป.ป.ช.รวบรวมสำนวนเสร็จสิ้น หรือต้องการให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปร่วมติดตามคดีด้วยก็สามารถทำได้ แต่ตั้งแต่เกิดเหตุ ยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจแต่อย่างไร ทั้งนี้ ขอฝากถึงพี่น้องประชาชน ร่วมเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังการตัดไม้ในที่ราชพัสดุ และฝากเตือนว่าการตัดไม้พะยูงหรือไม้หวงห้ามในที่ราชพัสดุนั้นเป็นเรื่องที่พึงระวังและต้องสมเหตุสมผล จึงจะสามารถตัดได้โดยไม่ผิดกฎหมาย