ช่วงนี้เห็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ( ป.ป.ช.) มีงานออกมาค่อนข้างบ่อย เป็นงานด้าน​ “ป้องกัน” หรือส่งเสริมเรื่องแก้ปัญหาทุจริต ด้วยวิธีใดก็ตาม สร้างค่านิยม บรรจุในแบบเรียนการศึกษา หรือกระทั่งการทำดัชนีชี้วัดหน่วยงานที่มีความโปร่งใส และหวังว่าหน่วยงานต่างๆ จะเข้าสู่การประเมินมากขึ้น

งาน​ “ป้องกัน” ที่ฮือฮาที่สุดดันเป็นแคมเปญ​ “พูดหยุดโกง” ซะนี่ ฮือฮาในด้านออกมาแล้วพัง เอาเหล่าดารา คนดังมาโพสต์เรื่องการมีวินัย การป้องกันโกง ฯลฯ ปรากฏว่าถูกแฉว่าใช้งบมากเกินจำเป็นหรือไม่ แล้วงบจากไหน ? จนดาราที่ร่วมแคมเปญบางคนประกาศคืนเงิน แล้วโครงการนี้ก็เงียบไป จากนี้เป็นไงก็ไปเฉ่งกันเอง

ป.ป.ช.ในยุค “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ก็ยังมีความ​ “ปัง” ออกมาเรื่อยๆ ให้คนวิจารณ์กันขรม ที่ “ปังนาน” คือเรื่องการสอบ “นาฬิกาเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั่นแหละ ที่ “บิ๊กกุ้ย” ไม่ร่วมมีมติด้วยเพราะเกรงข้อครหาเนื่องจากถูกมองว่าเป็นคนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” มาก่อน

ผลสอบก็ออกมาแบบไม่เหนือความคาดหมายทุกคนเท่าไรหรอก เพราะก่อนหน้านี้ก็โยนหินถามทางมาแล้วว่า นาฬิกาเพื่อน พอมีสื่อจะขอรายงานการประชุมก็ปิด ส่งกระดาษเปล่าให้ จนสำนักข่าว matter เขาต้องยื่นศาลปกครองให้เปิดเผยข้อมูล และศาลปกครองมีคำสั่งให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลแล้ว ว่าการสอบเป็นอย่างไร

ปรากฏว่า​ นายนิวัติไชย เกษมมงคล โฆษก ป.ป.ช. ก็ยังบอกว่า “มีขั้นตอน” ต้องรอดูคำพิพากษาอย่างเป็นทางการ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาว่า จะสามารถเปิดเผยข้อมูลได้แค่ไหน ถ้าเป็นข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนในคดีโดยตรง คงเปิดไม่ได้ ถ้าเปิดเผยไปแล้ว จะรู้ว่า มีพยานคนใดบ้าง ให้การอย่างไร อาจเกิดการไปฟ้องร้องตามมา

หรือถ้าเป็นข้อมูลที่เปิดไปแล้วไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล กฎหมาย ป.ป.ช.ก็ไม่ให้เปิดเผย รวมถึงถ้าเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่า ป.ป.ช.จะปกปิดไม่เปิดเผย แต่ต้องรอคำพิพากษาก่อน แล้ว ป.ป.ช.จะพิจารณาอีกครั้ง… ซึ่งก็น่าสนใจว่า​ “คำให้การลักษณะไหนที่เปิดแล้วจะโดนฟ้อง” อันนี้ก็ไปคิดเอง

ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องที่มีการขอให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ซึ่งสื่อก็ไปยื่นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ให้เปิดเผยอีกนั่นแหละ กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถ้าเพื่อความโปร่งใสก็ควรเปิดเผย เพื่อการตรวจสอบการเพิ่มหรือลดของทรัพย์สิน

ปรากฏว่า ป.ป.ช.อ้างการเก็บข้อมูลตรงนั้นเก็บไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการเปิดเผย เนื่องจากมีเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกฎหมายลูก ที่กรณีรับตำแหน่งเดิมต่อเนื่องก็ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของกฎหมายลูก

ไหนๆ รัฐบาลก็ประกาศวาระปฏิรูปกฎหมาย มี​ “กิโยตินกฎหมาย” ที่จะจัดการกับกฎหมายพวกที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ชีวิต การติดต่อราชการ หรือความโปร่งใสอะไรต่างๆ ก็ลองมาดูกฎหมาย ป.ป.ช.บ้างก็ดี เผื่อว่า จะใช้ “กิโยตินกฎหมาย” จัดการเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลได้ โปร่งใสในฐานะเป็นองค์กรอิสระได้มากขึ้น

ก็ลองตรองดูกันเองเถิดว่า อะไรที่กระทบกับ คสช.นั้น ดูเหมือนจะดำเนินการยุ่งยากหรือไม่ มันน่าสนใจว่า ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ยกร่างฉบับใหม่ได้ หากต้องยกร่างกฎหมายลูกเรื่อง ป.ป.ช.น่าจะแก้กันหลายจุดอยู่ ..หลายเรื่องกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ดีเช่นกำหนดเรื่องระยะเวลาในการทำคดี ไม่นับเวลาหากผู้ต้องหาหนีคดี

แต่ก็รู้สึกว่า น่าจะ​ “เพิ่มเติม” อะไรเพื่อสร้างความโปร่งใสได้อีก.