เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เชิญชวนชาวไทยชมปรากฏการณ์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ คืนวันที่ 14 ธันวาคมจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เริ่มสังเกตได้เวลาประมาณ 20.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า คาดมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดช่วงหลังเที่ยงคืน ประมาณ 120-150 ดวงต่อชั่วโมง เผยปีนี้เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่งเนื่องจาก เป็นคืนที่ไร้แสงจันทร์รบกวนผู้สนใจติดตามชมได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่โล่ง และมืดสนิท ปราศจากแสงรบกวนดูได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 20 ธันวาคม ของทุกปี มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สามารถรอชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มดาวคนคู่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 20.00 น. เป็นต้นไป ฝนดาวตกจะปรากฏให้เห็นเป็นลำแสงวาบพาดผ่านทั่วท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ดูได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท ซึ่งปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง

ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนเข้าผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่น ขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) หลงเหลือทิ้งไว้ ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านสายธารดังกล่าว แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเหล่านั้นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ปรากฏให้ผู้สังเกตการณ์บนโลกเห็นเป็นลำแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball ซึ่ง “ฝนดาวตก” จะแตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ

นอกจากนี้ “สดร.” ได้เตรียมจัด กิจกรรมสังเกตการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 5 จังหวัด ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ทั้งนี้ ลักษณะการจัดกิจกรรมจะแตกต่างแต่ละพื้นที่ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ.