สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ว่า งานศึกษาดังกล่าว ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 66 ล้านปีก่อน จนถึงปัจจุบัน โดยวิเคราะห์ตัวชี้วัดทางชีวภาพและธรณีเคมี จากอดีตอันห่างไกล เพื่อสร้างบันทึกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ด้วยความแม่นยำที่มากกกว่าเดิม

การวิเคราะห์ครั้งใหม่พบว่า ครั้งสุดท้ายที่อากาศของโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 420 ส่วนในล้านส่วน คือระหว่าง 14-16 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่กรีนแลนด์ไม่มีน้ำแข็ง และบรรพบุรุษของมนุษย์ เพิ่งย้ายที่อยู่อาศัยจากในป่า มายังทุ่งหญ้า นับเป็นช่วงเวลาที่ย้อนกลับไปไกลกว่าการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ ที่ 3-5 ล้านปีก่อนอย่างมาก

ก่อนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1700 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ อยู่ที่ประมาณ 280 ส่วนในล้านส่วน นั่นหมายความว่า มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นราว 50% ซึ่งกักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ และทำให้โลกร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ งานศึกษาระบุเสริมว่า หากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเข้มข้นอาจสูงถึง 600-800 ส่วนในล้านส่วน ภายในปี 2643 ซึ่งระดับข้างต้นเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย เมื่อ 30-40 ล้านปีที่แล้ว ก่อนที่แอนตาร์กติกาจะถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง และเป็นช่วงเวลาที่พืชและสัตว์ต่าง ๆ ในโลก ดูแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก

ขณะที่บรรดานักวิจัยยืนยันว่า ช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด ในช่วง 66 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นเมื่อ 50 ล้านปีก่อน เมื่อระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งสูงถึง 1,600 ส่วนในล้านส่วน และอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 12 องศาเซลเซียส จากนั้นตัวเลขก็ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนกระทั่งประมาณ 2.5 ล้านปีก่อน ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลืออยู่ที่ 270-280 ส่วนในล้านส่วน ส่งผลให้เกิดยุคน้ำแข็งหลายครั้ง

อนึ่ง บันทึกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เผยให้เห็นว่า เมื่อ 56 ล้านปีก่อน โลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วในลักษณะเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศ และใช้เวลาประมาณ 150,000 ปี จึงจะสลายไป.

เครดิตภาพ : AFP