นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 12 ธ.ค.นี้ คลังจะเสนอมาตรการแก้ปัญหาหนี้ในระบบเพิ่มเติมให้ที่ประชุมพิจารณา โดยประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ การแก้หนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี รหัส 21 ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ และอีกส่วนเป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่เคยกู้สินเชื่อฉุกเฉินสู้ภัยโควิด 10,000 บาท จากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กลายเป็นหนี้เสียให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ และไม่ติดเครดิตบูโรได้  

สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี รหัส 21 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นลูกหนี้ที่จ่ายเงินปกติ ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ แต่จากเหตุการณ์โควิดส่งผลให้ไม่สามารถใช้หนี้ได้ จะดูแลในส่วนที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งมีจำนวน 5-6 หมื่นราย คิดเป็น 99.5% ของลูกหนี้ทั้งหมดเอสเอ็มอี รหัส 21 โดยจะมีการพักชำระหนี้วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ  ขณะที่ลูกหนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 ที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะแถลงรายละเอียดในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ 

ส่วนสินเชื่อฉุกเฉินโควิด 10,000 บาท เป็นการกู้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้วในช่วงเกิดวิกฤตโควิด ซึ่งขณะนี้มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วกว่า 1 ล้านคน  ดังนั้นจะมีการยกหนี้ที่ค้างจ่ายให้กับคนที่ยังเป็นหนี้เสียทั้งหมด ซึ่งกลไกที่รัฐบาลช่วยนั้น ไม่ได้สร้างความเสียหายเพิ่มเติมต่อรัฐ เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ ในการกันวงเงินเพื่อชดเชยความเสียหายไว้แล้ว ที่ 50% ของวงเงินทั้งหมดที่ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นก็จะนำเงินส่วนนี้มาช่วยลูกหนี้ที่เป็นแอลพีแอลได้กว่า 1 ล้านราย และยังช่วยแบงก์รัฐได้อีกด้วย 

“ที่ผ่านมามีลูกหนี้หลายคนเข้าใจผิดว่า สินเชื่อฉุกเฉินนั้นเป็นมาตรการแจกเงินช่วยเหลือของรัฐ ทำให้พอใช้เสร็จก็ไม่กลับมาผ่อนกลายเป็นหนี้เสียโดยไม่คาดหมาย ดังนั้นรัฐจึงพยายามเข้าไปช่วยเพื่อให้กลับมาเป็นลูกหนี้สถานะปกติ และลูกหนี้กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ต้องผ่อนคืนรัฐอีกต่อไป”  

ส่วนกรณีที่กังวลจะทำลายวินัยการไม่ใช้คืนหนี้ หรือมอรัล ฮาซาร์ดนั้น ต้องยอมรับว่า การแก้หนี้ พักหนี้ทุกรูปแบบนั้น มีโอกาสเสี่ยงเกิดมอรัล ฮาซาร์ดทั้งหมด แต่วันนี้ รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ และดึงคนกลุ่มดังกล่าวให้กลับเข้าสู่ระบบให้เดินหน้าประกอบอาชีพได้ ขณะที่คนที่ลูกหนี้ดีที่ผ่อนครบถ้วนก็จะได้รางวัล สิทธิพิเศษ อาทิ ลดดอกเบี้ยพิเศษ หรือเพิ่มวงเงินกู้  ขณะเดียวกัน คนที่รัฐบาลช่วยมาจากเอ็นพีแอล ถึงแม้จะถูกช่วยแล้ว แต่การกลับมาขอสินเชื่อก็ต้องถูกพิจารณาในเกณฑ์ของธนาคารตามปกติ 

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า ในการแถลงมาตรการแก้หนี้ในระบบจะมีการแก้หนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กว่า 2-3 ล้านคน โดยจะมีการลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ  0.5% การปรับลำดับการผ่อนหนี้ จากเดิมตัดเบี้ยปรับก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย และเงินต้น มาเป็นตัดเงินต้นก่อน ดอกเบี้ย และตามด้วยเบี้ย ซึ่งจะทำให้ตัดเงินต้นให้หมดอย่างรวดเร็ว รวมถึงคนผ่อนชำระเกินก็จะได้รับเงินคืนอีกด้วย นอกจากนี้ จะมีการเปิดให้ลูกหนี้ที่ถูกฟ้อง บังคับคดี หรือขายทอดตลาดให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ.ได้