ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้เปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 มีทั้งสิ้น 16.07 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.7% ต่อจีดีพี อยู่ระดับทรงตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หนี้อยู่ระดับสูงจนน่ากังวล

ก่อนหน้านี้ น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธปท. ได้แสดงความเป็นห่วงการชำระหนี้คืนของครัวเรือนในกลุ่มคนเปราะบาง มีรายได้น้อย รายได้ฟื้นตัวช้า โดยยังเชื่อมั่นธนาคารพาณิชย์มีวิธีบริหารจัดการคุณภาพหนี้ต่อเนื่อง แม้หนี้เอ็นพีแอล หรือค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไปปรับเพิ่มทุกพอร์ตสินเชื่อทั้งบ้าน รถ บัตรเครดิต

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้ให้ข้อมูลหนี้ที่น่ากังวลและต้องเร่งแก้ไขคือ ลูกหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดจากโควิด หรือลูกหนี้บัญชีรหัส 21 ซึ่งมีทั้งสิ้น 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.5 ล้านคน รวม 5 ล้านบัญชี ห่วงที่สุดคือหนี้รถยนต์ 3.9 หมื่นล้านบาท จำนวน 8.8 หมื่นบัญชี และหนี้บุคคล 9.2 หมื่นล้านบาท จำนวน 3.18 ล้านบัญชี เป็นต้น โดยหนี้รหัส 21 นี้ส่วนใหญ่อยู่กับแบงก์รัฐ 2.96 ล้านบัญชี คิดเป็น 1.89 แสนล้านบาท และธนาคารพาณิชย์ 5.23 แสนบัญชี คิดเป็น 1.1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 3 ปี 66 พบว่าหนี้เอ็นพีแอลมีมากถึง 1.05 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.7% ของสินเชื่อรวม คิดเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล 10 ล้านบัญชี โดยหนี้เสียน่ากังวลมากที่สุดเป็นหนี้เสียรถยนต์ที่มีมากถึง 6.94 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็น 2.07 แสนล้านบาท

เช่นเดียวกับหนี้ที่ใกล้เป็นหนี้เสียเอ็นพีแอลหรือค้างชำระ 30-90 วัน (เอสเอ็ม) น่ากังวลคือหนี้รถยนต์มีหนี้เอสเอ็มมากถึง 2.13 แสนล้านบาท จำนวน 5.6 แสนบัญชี และหนี้บ้าน 1.36 แสนล้านบาท จำนวน 1.05 แสนบัญชี ซึ่งหนี้รถยนต์มีปัญหาทั้งเป็นหนี้เสียและกำลังจะเป็นหนี้เสีย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจนวาย

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมแถลงแก้หนี้ในระบบวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ทางธนาคารและสมาคมธนาคารไทยพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยได้ทำงานร่วมกับธปท.มาต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาหนี้ เช่น การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ แก้หนี้นอกระบบ หนี้เสียเอ็นพีแอล หนี้เรื้อรัง หนี้ใหม่ ให้ความรู้กับผู้ก่อหนี้ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินความจำเป็น