เมื่อวันที่ 22 ก.ย. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาแนะให้ประชาชนจับตาการวัดพลังขน ส.ส.และรัฐมนตรีลงพื้นที่แบ่งขั้วเล่นเกมการเมืองของพี่น้อง “3 ป.” เป็นการจัดฉากไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมที่แท้จริงว่า การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำรวมทั้งแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐนั้น สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อเข้าถึงความต้องการที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการจัดฉากเพื่อวัดพลังหรือมุ่งหวังผลในทางการเมืองอย่างที่โฆษกพรรคเพื่อไทยจินตนาการ ตรงกันข้ามกลับสะท้อนให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐที่มีบุคคลากรอยู่ในฝ่ายบริหาร แบ่งงานกันระดมสรรพกำลังลงไปในพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาอย่างเข้าถึงและสามารถนำกลับมาแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้ง ส.ส.ในพื้นที่ใกล้เคียงจะได้เชื่อมโยงประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศ ไม่ได้เลือกที่รัก มักที่ชัง ว่าจะต้องเลือกไปจังหวัดใด และจะลงทุกพื้นที่ การลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากบรรดา ส.ส. ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ไม่เหมือนกับอดีตนายกรัฐมนตรีบางคน ที่เลือกลงพื้นที่เฉพาะพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของตนเอง และทุ่มงบประมาณลงไปในพื้นที่ฐานเสียงนั้น จนถูกวิจารณ์ว่ามีนโยบายภูมิภาคนิยม

“อยากให้โฆษกพรรคเพื่อไทยดูแลพรรคของตนเองให้ดีก่อน ที่จะวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองอื่น ซึ่งตนเข้าใจว่า พรรคการเมืองต่างใช้ช่วงเวลาในการปิดสมัยประชุมสภาฯนี้ ลงพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ดังนั้น โฆษกพรรคเพื่อไทยเองไม่ควรเอาประเด็นการลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อทราบถึงความต้องการและปัญหาของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาแต่งเติมเป็นประเด็นการเมืองไปเสียหมด และอยากแนะนำให้โฆษกพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนจะดีกว่านั่งพูดไปวันๆ” น.ส.ทิพานัน กล่าว

ส่วนการติดตามปัญหาน้ำท่วมนั้น น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลมีแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนหมดหน้าฝน โดยให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์จุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเต็มที่ ตามแผนเผชิญเหตุ โดยคำนึงเสมอว่านอกจากระบายน้ำลงทะเลเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังต้องคำนวณการเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้งด้วย และเชื่อว่าจะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 53 อย่างแน่นอน.