เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความ ให้ความเห็นกรณีสามีครูพร เหยื่อโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู เรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากลูกในครรภ์ไม่ได้รับการเยียวยา ว่า ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์หนองบัวลำภู ถือเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา โดยจะได้รับเงินสูงสุดประมาณ 2 แสนบาท จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีกองทุนเยียวยาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเงินเยียวยาทั้ง 2 ส่วนนี้ ผู้เสียหายหรือทายาทสามารถรับได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลตัดสิน เพราะเป็นเรื่องที่รัฐต้องดูแลพลเมืองเต็มที่ อีกทั้งเป็นเหตุสะเทือนขวัญและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก

สามี ‘ครูพร’ ผู้สูญเสียเหตุกราดยิง สุดช้ำ ลูก 8 เดือนในครรภ์ไม่ได้รับเยียวยา

กรณีที่รัฐเยียวยาแล้ว แต่ผู้เสียหายหรือผู้ปครองต้องการเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก ก็ต้องใช้สิทธิดำเนินการทางแพ่งในชั้นศาล ซึ่งสภาทนายความ พร้อมช่วยเหลือด้านคดีและให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ โดยผู้เสียหายสามารถติดต่อสภาทนายจังหวัดหนองบัวลำภูได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาลว่าจะให้ผู้ก่อเหตุชดใช้ค่าเสียหายเท่าไหร่ หากผู้ก่อเหตุเสียชีวิต ก็ต้องดูว่าทายาทได้มรดกของผู้ก่อเหตุมาแค่ไหน ซึ่งค่าเสียหายต้องไม่เกินจากมรดกที่ได้รับ

ขณะที่ผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาต้องมีสภาพเป็นบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุไว้ว่า สภาพบุคคลเริ่มตั้งแต่คลอด และอยู่รอดมาเป็นทารก แม้จะอยู่รอดเพียง 1 วินาทีก็ถือว่าครอบคลุมตามหลักกฎหมาย แต่กรณีที่เด็กเสียชีวิตก่อนคลอด ไม่ถือว่าเป็นบุคคล พ่อไม่สามารถเรียกร้องแทนลูกได้ แต่ศาลก็จะนำมาประกอบสำนวนในการพิจารณาเงินเยียวยาที่พ่อเรียกร้องค่าเสียหายแทนแม่

“กรณีเด็กที่เสียชีวิตก่อนคลอดก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ซึ่งการพิจารณาเงินเยียวยา เชื่อว่ารัฐไม่ได้ละเลยหรือทิ้ง แต่นำมาประกอบการพิจารณาให้เงินเยียวยาแล้ว”