เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 20 ธ.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แถลงผลการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 10/2566 หลังจากที่มีการประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติเดิมในวันที่ 8 ธ.ค. ส่วนข้อสังเกตจาก ท่าน รมว.แรงงาน นั้น ทางคณะกรรมการค่าจ้าง เห็นชอบเรื่องนี้ โดยจะนำไปพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างใหม่ เป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี ซึ่งวันที่ 17 ม.ค. 2566 ตนจะลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ส่วนการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 นั้น จะเป็นช่วงใด ก็จะต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่า จะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างค่าขั้นที่เพิ่มมากที่สุดคือ จ.ภูเก็ต คือ 370 เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท หรือเพิ่มขึ้น 16 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จากเดิม 328 บาท โดยมติคณะกรรมการเมื่อวันที่ 8 ให้อัตราค่าจ้างใหม่นี้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอน จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำมติดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบต่อไป

สำหรับรายละเอียดการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 แบ่งออกเป็น 17 อัตรา ดังนี้ 1. กลุ่มที่เพิ่มเป็น 370 บาทต่อวัน มี 1 จังหวัดคือ ภูเก็ต 2. ปรับเพิ่มเป็น 363 บาท มี 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 3. ปรับเพิ่มเป็น 361 บาท มี 2 จังหวัดคือ ชลบุรีและระยอง 4. ปรับเพิ่มเป็น 352 บาท มี 1 จังหวัดคือ นครราชสีมา 5. ปรับเพิ่มเป็น 351 บาท มี 1 จังหวัดคือ สมุทรสงคราม 6. ปรับเพิ่มเป็น 350 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ 7. ปรับเพิ่มเป็น 349 บาท มี 1 จังหวัดคือ ลพบุรี 8. ปรับเพิ่มเป็น 348 บาท มี 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี นครนายก และหนองคาย

9. ปรับเพิ่มเป็น 347 บาท มี 2 จังหวัดคือ กระบี่และตราด 10.ปรับเพิ่มเป็น 345 บาทมี 15 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา จันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก และพิษณุโลก 11. ปรับเพิ่มเป็น 344 บาท มี 3 จังหวัดคือ เพชรบุรี ชุมพร และสุรินทร์ 12. ปรับเพิ่มเป็น 343 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ลำพูน และนครสวรรค์ 13. ปรับเพิ่มเป็น 342 บาท มี 5 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และเพชรบูรณ์ 14. ปรับเพิ่มเป็น 341 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ และอ่างทอง 15. ปรับเพิ่มเป็น 340 บาท มี 16 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง สตูล เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และราชบุรี 16.ปรับเพิ่มเป็น 338 บาท มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง น่าน พะเยา แพร่ 17. ปรับเพิ่มเป็น 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา