เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งทราบชื่อต่อมาคือ นายโกศล แซ่แต้ อายุ 51 ปี เจ้าของร้านตี๋หม้อน้ำ หมู่บ้านเมืองใหม่พ่อขุน เลขที่ 124/53 หมู่ 3 ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นภาพของสัตว์หรือแมลงชนิดใด ลักษณะคล้ายหนอนตัวสีขาวนวล แต่มีตา และเขี้ยว รวมทั้งมีขาเป็นจำนวนมาก พร้อมกับระบุข้อความว่า “มันคือตัวอะไรอยู่ในปลาทู ใครรู้บอกที” ลงในเฟซบุ๊กเพื่อสอบถามผู้รู้

ต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้าน นายโกศล แซ่แต้ เปิดเผยว่า ตนซื้อปลาทูมา 1 แพ็ก มี 2 ตัวมาจากตลาดสด เพื่อทอดรับประทานตามปกติเป็นประจำ เนื่องจากเป็นคนที่ชอบกินปลาทูทอด โดยเฉพาะการแทะหัวปลาทู โดยเช้าที่ผ่านมา ได้ทอดปลาทูทั้ง 2 ตัว โดยในช่วงเช้ากินไป 1 ตัว และอีก 1 ตัว เก็บไว้และนำมากินตอนเที่ยง ขณะที่กำลังอร่อยกับการกินปลาทูมื้อเที่ยงจนเกือบหมดตัวอยู่นั้น ได้มีชิ้นหนึ่งหลุดจากมือตกลงเข้าไปในจาน ตนนึกว่าเป็นเนื้อปลาเพราะสีขาวคล้ายเนื้อปลา กำลังจะหยิบเข้าปาก สังเกตว่ามีรูปร่างแปลกๆ จึงได้นำไปล้างน้ำจึงพบว่าเป็นตัวอะไรชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเห็บตัวใหญ่สีออกขาวนวล มีตา 2 ข้าง มีเขี้ยวและมีขาเป็นจำนวนมาก ทำเอาชะงัก และต้องหยุดกินทันที จากนั้นจึงได้เอาโทรศัพท์มาถ่ายคลิปโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพื่อสอบถามผู้รู้ เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย

หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์และทักแชตมาจำนวนมาก บ้างก็ว่าคล้ายเห็บ บ้างก็ว่าเป็นตัวปรสิต บางคนก็ว่าตัวอ่อนแมลงสาบ บางคนก็ได้ค้นคว้าข้อมูลมาพูดคุย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแมลงปริศนาดังกล่าวว่า ส่วนใหญ่มักจะเจอตัวนี้ในหัวปลา แต่ถ้าจะเจอบ่อยๆ คงต้องเป็นหัวปลาทู ตัวนี้เรียกว่า “ไอโซพอด” เป็นปรสิตในปลาทะเล บางคนก็กิน บางคนก็เขี่ยออก หน้าตาอาจจะดูน่าเกลียดแต่ไม่มีอันตราย แต่ก็ทำเอาผู้โพสต์เลิกอยากกินปลาทูไปอีกนาน

นายโกศล ยังได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ก่อนจะทานปลาหรือสิ่งใดก็ควรดูให้รอบคอบ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

สำหรับ “ไอโซพอด (isopod)” เป็นสัตว์จำพวกครัสเตเชียน กลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดชนิดหนึ่ง พบอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ เป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยกินสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว และย่อยสลายสารอินทรีย์ (Detritivores) จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อการย่อยสารอินทรีย์ในระบบนิเวศ รู้จักกันในชื่อว่า “ตัวกัดลิ้น” (Tonguebiter) สัตว์ในกลุ่มไอโซพอด จัดว่าเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ พบฟอสซิลตั้งแต่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ซึ่งแตกต่างเพียงเล็กน้อยไปจากกลุ่ม Phreatoicidean ยุคใหม่ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทางซีกโลกใต้