เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 25 ธ.ค. ที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนภายหลังเข้า รับการไต่สวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 โดยมีการเข้าให้ถ้อยคำนานกว่า 2 ชั่วโมง และหลังจากออกมา ปรากฏว่ามีแฟนคลับเข้าไปห้อมล้อมให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

นายชัยธวัช กล่าวว่า คิดว่าการไต่สวนเป็นไปด้วยดี เรายังมั่นใจว่า ตามข้อเท็จจริงตามกฎหมายและเจตนาของเรา สามารถชี้ได้ว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง และก่อนหน้านี้ได้ทำคำชี้แจงในประเด็นสำคัญๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว วันนี้หลักๆ มาตอบคำถามที่ตุลาการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งมีคำถามหลากหลาย ซึ่งพูดได้ไม่หมดเพราะระหว่างไต่สวน รอบของนายพิธา กับรอบของตนนั้น ตนไม่ได้อยู่ในห้องด้วย อย่างไรก็ตาม จากนี้ ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค. 2567

เมื่อถามว่า หลังศาลไต่สวน ยั่งเชื่อมั่นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นเหมือนเดิม ว่าการเสนอร่างกฎหมายโดยการใช้กระบวนการนิติบัญญัติ และแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกฎหมายอาญา หมิ่นประมาท เรายังมั่นใจว่า ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ ทั้งนี้ การเสนอร่างใดๆ มีกระบวนการของสภาแล้วไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1 วาระที่ 2 วาระที่ 3 ซึ่งต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ ต้องใช้กรรมาธิการในการคัดกรองพิจารณาเนื้อหาซ้ำอีกครั้ง ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด่วยรัฐธรรมนูญก่อนผ่านสภา ก่อนประกาศใช้จะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น การเสนอกฎหมายไม่มีทางนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้

ด้านนายพิธา กล่าวว่า การไต่สวนในวันนี้ ตนก็ยังมั่นใจว่า กระบวนการราบรื่นดี ในส่วนตัวเองรู้สึกพอใจ ที่ได้แถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ข้อสงสัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งที่ตั้งใจมา เป็นไปตามความคาดหมาย ยังมั่นใจในข้อเท็จจริงหลายๆ เรื่อง ข้อเสนอแก้ไขทางนิติบัญญัติ ไม่ได้มาจากพรรคเราเป็นพรรคแรก แต่มาจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขณะนั้น ตอนนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคเดียว ดังนั้นน่าจะยืนยันได้ในเรื่องของเจตนาว่า ไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง

หากผลการตัดสินออกมาเป็นคุณทั้ง 2 คดี นายพิธาจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ยังทำงานกับพรรคก้าวไกล แต่ออกมาเป็นคุณ ในส่วนของบทบาทพรรคก้าวไกล ก็ต้องรอเดือน เม.ย. 2567 ที่จะมีการประชุมวิสามัญใหญ่พรรคก้าวไกล ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดอะไร สามารถทำงานการเมืองได้ทุกรูปแบบ ไม่กังวลใจยังสามารถทำงานต่อได้

เมื่อถามว่าการแก้ไขมาตรา 112 ยังจะสามารถป็นนโยบานหาเสียงครั้งต่อไปได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า นโยบายเป็นของ สส. ชุดที่แล้ว เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ชุดที่แล้ว ตอนนี้เป็น สส. ชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการหารือพูดคุยกันในพรรคว่า ปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ก็ยังเป็นข้อพิพาทในศาลรัฐธรรมนูญอยู่

เมื่อถามต่อว่า หากศาลวินิจฉัยทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือให้เรายุติยกเลิกนโยบายนี้ จะส่งผลกระทบต่อจุดยืนการทำงานของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอให้คำพิพากษาศาลออกมาก่อน เป็นเรื่องของ สส. แต่ละคน ดูสถานการณ์บริบทของบ้านเมืองซึ่งแตกต่างกันไป ตอนที่เรายื่นตอนนั้นก็ต้องเข้าใจว่าบริบทการเมืองตอนนั้นมีการใช้ความรุนแรง และมีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อยเป็น 268 คดี ในปี 2563 โดยมีเยาวชนยี่สิบกว่าคน ดังนั้นในปี 2564 เราจึงคิดว่า นี่เป็นทางฝ่ายการเป็นทางออกของการเมืองตอนนั้น ดังนั้นหลายเรื่อง หลายๆ เวลา ต้องดูว่าสิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมคือการได้สัดส่วน เมื่อมีการละเมิดสิทธิก็ต้องทางออกในรัฐสภาที่เรายึดถือ ณ ตอนนั้น ตอนนี้ ก็ต้องแล้วแต่ สส. แต่ละคน และสถานการณ์ ดูองค์ประกอบหลายเรื่อง รวมถึงสถานการณ์ตอนนั้น

เมื่อถามว่าประเมินตัวเองหลังไต่สวนให้กี่คะแนน นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ตอบเป็นตัวเลขแต่ก็พอใจ หากย้อนกลับไปได้เท่าที่ตัวเองคิดตอนนี้ ก็คิดว่าไม่มีอะไรอยากจะทำเพิ่ม ทำเต็มที่แล้ว ตอนนี้ต้องรอคำพิพากษา ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ปากคำ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ 4-5 ท่าน มาให้ความเห็น ส่วนรายละเอียดให้ความเห็นอย่างไรนั้นไม่สามารถบอกได้

ขณะที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ กล่าวว่า พอใจการไต่สวน ไม่มีสิ่งใดที่ยังคาใจ เพราะศาลก็เป็นครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งก็จะต้องรอคำวินิจฉัยโดยศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น.

เมื่อถามว่าหากศาลวินิจฉัยในทางเป็นคุณกับผู้ร้องจะไปดำเนินการยื่นร้องให้มีการยุบพรรคก้าวไกลต่อหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด เพราะโดยหลักของการมาศาลมีข้อกำหนดไว้ว่าจะปรารถนาอย่างอื่นเกินกว่าที่ยื่นคำร้องไว้ไม่ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเราปรารถนายิ่งกว่าที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลไว้ ท่านก็อาจจะไม่ให้ความเห็นอย่างอื่นได้ ซึ่งตามคำร้องของตนคือปรารถนาเพียงว่าให้เกิดการหยุดการกระทำ ยกเลิกที่จะเปิดช่องทางให้มีการก้าวล่วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามคำร้องจึงไม่ได้ขอให้มีการยุบพรรค เพราะประเด็นปัญหาตามคำร้องที่ยื่นไประบุว่า การที่จะมีช่องทางใดก็ตาม ที่จะไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจขยายวงกว้างได้ในภายหน้า คิดว่าควรที่จะมีการยับยั้ง ซึ่งโดยอำนาจตนเองหรือประชาชน ไม่สามารถทำได้แต่ต้องเป็นศาลรัฐธรรมนูญ