หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 8 กันยายน คริสตศักราช 2022 ราชสำนักอังกฤษจะดำเนินการ “ปฏิบัติการสะพานลอนดอน” หรือ Operation London Bridge ทันที ซึ่งเป็นรหัสลับเรียกแผนดำเนินการต่าง ๆ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตลง เดิมทีแผนนี้วางขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และปรับปรุงเรื่อยมาทุกปี ในการวางแผนมีความร่วมมือจากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ อาทิ หน่วยตำรวจนครบาล กองทัพบริติช ราชอุทยานลอนดอน ตลอดจน คริสตจักรอังกฤษ และสื่อมวลชน

แผนนี้กำหนดให้ใช้ข้อความว่า “สะพานลอนดอนพังแล้ว” หรือ London Bridge Is Down ซึ่งเป็นรหัสสำหรับกระจายข่าวให้กับนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญอื่นๆ เพื่อทราบข่าว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร  เสด็จสวรรคตแล้ว จะได้เริ่มปฏิบัติตามแผนต่างๆ ที่วางไว้

ในกรณีสมเด็จพระราชินีสวรรคตลง ณ ปราสาทบัลมอรัล (Balmoral Castle) ประเทศสกอตแลนด์ ปฏิบัติการจะถูกเรียกว่า “ปฏิบัติการยูนิคอร์น” หรือ Operation Unicorn แทน และจะนำพระบรมศพกลับมายังลอนดอนด้วยรถไฟหลวง โดยการใช้คำว่า ยูนิคอร์น เนื่องจากยูนิคอร์น เป็นสัตว์ประจำชาติของสกอตแลนด์ และเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินร่วมกับสิงโตแห่งอังกฤษ

สำหรับแผนการดำเนินการเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตแล้ว มีดังนี้

วันสวรรคต : ราชเลขาธิการ เป็นข้าราชการคนแรกที่มีหน้าที่รับมือกับข่าวการสวรรคต สิ่งแรกที่เขาจะทำ คือ ติดต่อนายกรัฐมนตรี แล้วข้าราชการทั้งหลายก็จะแจ้งข้อความ “สะพานลอนดอนพังแล้ว” ต่อ ๆ กันไปทางโทรศัพท์ที่มีระบบป้องกัน จากนั้นศูนย์ปฏิกิริยาโลก (Global Response Centre) ในสังกัดสำนักต่างประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งอันไม่เปิดเผยอยู่ในลอนดอน จะแจ้งข่าวการสวรรคตไปยังรัฐบาล 15 ประเทศในเครือจักรภพที่สมเด็จพระราชินีนาถ ทรงเป็นประมุข

แล้วจะมีการแจ้งสื่อมวลชน โดยแถลงต่อสมาคมสื่อ และต่อบีบีซี ทางระบบส่งผ่านการแจ้งเตือนทางวิทยุ (Radio Alert Transmission System) รวมถึงต่อสถานีวิทยุพาณิชย์ทั้งหลายผ่านเครือข่าย “ไฟมรณะ” (obit light) สีฟ้า ซึ่งจะเป็นที่รับทราบของพิธีกรรายการวิทยุว่า ถึงเวลาเปิด “เพลงที่เหมาะสม” และเตรียมเสนอข่าวฉับพลัน ในการนี้ นิตยสาร ไทมส์ มีเวลา 11 วันสำหรับเตรียมออกข่าว ส่วนสำนักข่าวไอทีเอ็น และสกายนิวส์ ได้ซักซ้อมเกี่ยวกับการสวรรคตมานานแล้ว

ครั้นแล้ว ชาวพนักงานจะติดกระดาษขอบดำลงประกาศการสวรรคตไว้ตามประตูพระราชวังบักกิงแฮม ขณะเดียวกัน เว็บไซต์สำนักพระราชวังก็จะขึ้นประกาศอย่างเดียวกัน แล้วจะมีการเรียกประชุมรัฐสภานัดพิเศษภายในไม่กี่ชั่วโมง เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้แถลงการณ์สวรรคตต่อสภาสามัญชน

วันถัดจากวันสวรรคต

หลังสวรรคตแล้วหนึ่งวัน สภาสืบราชย์ (Accession Council) จะประชุมประกาศยกเจ้าชายชาร์ลส์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เย็นนั้น จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

งานพระศพ

มีการเตรียมเคลื่อนหีบพระศพไว้หลายทาง สุดแต่ว่าจะสวรรคตที่ใด เช่น ถ้าสวรรคต ณ ปราสาทวินด์เซอร์ หรือตำหนักซานดริงแฮม จะเคลื่อนหีบพระศพด้วยรถยนต์ไปยังพระราชวังบักกิงแฮม ภายใน 1-2 วัน

ถ้าสวรรคตต่างประเทศ จะให้กองบินที่ 32 ลำเลียงหีบพระศพไปยังสถานีนอร์ตโฮลต์ แล้วเคลื่อนต่อด้วยรถยนต์ไปยังพระราชวังบักกิงแฮม

ถ้าสวรรคต ณ พระราชวังโฮลีรูท ในสกอตแลนด์ จะไว้หีบพระศพ ณ อาสนวิหารนักบุญไจลส์ (St Giles’ Cathedral) แล้วจึงขนย้ายต่อด้วยรถไฟหลวงไปยังลอนดอน

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นไร หีบพระศพจะตั้งไว้ในท้องพระโรงพระราชวังบักกิงแฮม เป็นเวลา 4 วัน แล้วจะย้ายไปตั้งสักการะ ณ โถงเวสมินสเตอร์ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ อีก 4 วัน

ส่วนงานพระศพจะจัดขึ้น ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เมื่อสวรรคตแล้ว 9 วัน หลังจากนั้น จะฝังพระศพไว้ ณ โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์

แผนปฏิบัติการสำหรับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีฯ และงานพระศพจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับแผนการในการขึ้นครองบัลลังก์ของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ที่เรียกว่า ปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide) และมีแผนเสริมในกรณีที่สมเด็จพระราชินีสวรรคตในสกอตแลนด์

ปฏิบัติการสปริงไทด์

ปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide) คือปฏิบัติการซึ่งเป็นแผนการสำหรับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร หนึ่งวันหลังจากนั้น “สภาการขึ้นครองราชย์” (Accession Council) ประกอบด้วยองค์มนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์อาวุโสทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้าราชการระดับสูง สมาชิกของสภาขุนนาง ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐต่าง ๆ ในเครือจักรภพจะจัดประชุมขึ้น ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ และมีการประกาศชื่อพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ในเย็นวันเดียวกันรัฐสภาอังกฤษจะประกาศการประชุมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสาบานตนต่อพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ และแสดงความอาลัยต่อสมเด็จพระราชินีฯ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภาจะถูกงดเป็นเวลา 10 วัน จากนั้นเวลา 15.30 น. พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้า

สองวันหลังจากการสวรรคต จะมีการประกาศปฐมบรมราชโองการ โดยมีเนื้อหาที่ประกอบไปด้วยข้อความที่ถูกร่างขึ้นตามธรรมเนียมโบราณด้วย และมีการให้เสียงสัญญาณแตร และอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์เหนือระเบียง ณ ลานแฟรี่คอร์ต พระราชวังเซนต์เจมส์ ด้วยข้อความว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาพระราชา” (God Save the King) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่เพลงชาติของอังกฤษจะเปลี่ยนจากคำว่า Queen มาเป็น King และมีการอ่านพระปฐมบรมราชโองการขึ้นที่เมืองเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเมืองเบลฟาสต์ พร้อมกับการยิงสลุต ณ สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และจากเรือหลวงต่าง ๆ

สามวันหลังจากการสวรรคต พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะรับการแสดงความเสียใจจากรัฐสภาอังกฤษ และเริ่มพระราชกรณียกิจในช่วงบ่ายด้วยการเยือนสภาสกอตแลนด์ รวมถึงเข้าร่วมพิธีมิสซา ที่มหาวิหารเซนต์ไจลส์ ในกรุงเอดินบะระ จากนั้นวันรุ่งขึ้นจะเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนไอร์แลนด์เหนือ เพื่อแสดงความอาลัยที่ปราสาทฮิลส์โบโร และร่วมพิธีมิสซา ที่มหาวิการเซนต์แอนด์ เมืองเบลฟัสต์

เจ็ดวันหลังจากการสวรรคต พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเวลส์ เพื่อรับการแสดงความเสียใจที่รัฐสภาเวลส์ และเข้าร่วมพิธีมิสซา ที่มหาวิหารแลนแดฟ ในเมืองคาร์ดิฟฟ์

ปฏิบัติการยูนิคอร์น

ปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) คือ แผนจัดการในกรณีที่สมเด็จพระราชินีฯ สวรรคตในสกอตแลนด์ ซึ่งได้รับการเปิดเผยรายละเอียดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 โดยแผนนี้จะเกิดขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชวังโฮลีรูท มหาวิหารเซนต์ไจลส์ และรัฐสภาสกอตแลนด์ โดยมีการประกาศข่าวแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนที่นั่น และงดกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลาเตรียมการในการจัดงานพระศพ ซึ่งรัฐสภาจะเตรียมการแสดงความเสียใจภายใน 72 ชั่วโมง และจะเก็บพระบรมศพไว้ในโลง พักไว้ในวังโฮลีรูทก่อน ตามด้วยการอัญเชิญไปไว้ยังวิหารเซนต์ไจลส์ ในเอดินบะระ และถูกเชิญไปยังสถานีรถไฟเวฟเวอร์ลีย์ และขนส่งพระบรมศพไปยังลอนดอนโดยรถไฟหลวงหรือโดยเครื่องบิน โดยจะมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรอรับพระบรมศพ.