จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีสั่งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เมื่อปี 2554 และให้ถอนหมายจับคดีนี้นั้น

ด่วน! ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ ย้าย ‘ถวิล’ พ้นเลขาฯสมช.ปี54

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพาย้อนเส้นทางคดีที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 12 ปี จากวันที่เริ่มฟ้อง สู่วันที่ยกฟ้องว่ามีเส้นทางและที่มาที่ไปอย่างไร

คดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช.แทน นายถวิล เมื่อวันที่ 4 ต.ค.54

วันที่ 19 ต.ค.54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเกษียณอายุราชการ วันที่ 30 ก.ย.55 และเป็นเครือญาติของตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ในการประชุมครั้งที่ 5/2554 ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ

วันที่ 20 ก.พ. 57 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล โดยชี้ว่า เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากคดีนี้มีนายถวิลเป็นผู้ร้องต่อศาลปกครองด้วยตัวเอง

วันที่ 7 พ.ค.57 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 268 จากกรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ “แสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต” คดีนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว. และคณะรวม 28 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

วันที่ 1 ก.ค.63 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อนส่งรายงานการสอบสวนให้อัยการสูงสุด (อสส.)

วันที่ 28 ก.พ. 65 อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันที่ 21 ก.ย.65 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ประทับรับฟ้องคดีนี้ และส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายกับประกาศที่หน้าศาล

วันที่ 21 พ.ย.65 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรก (สอบคำให้การ) แต่ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มิได้มาศาลโดยไม่แจ้งขัดข้องหรือร้องขอเลื่อนคดี จึงให้ออกหมายจับจำเลย

วันที่ 14 มี.ค.66 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดตรวจพยานหลักฐาน

วันที่ 9 พ.ย.66 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป เนื่องจากมีองค์คณะผู้พิพากษา 1 คนไม่มาศาล ทราบในภายหลังว่าคือ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ซึ่งมีปัญหาสุขภาพ

วันที่ 29 พ.ย.66 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เลื่อนการอ่านคำพิพากษาอีกครั้ง เนื่องด้วยนายสิทธิศักดิ์ถึงแก่อนิจกรรม โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เลือกนายกษิดิศ มงคลศิริภัทรา เป็นองค์คณะผู้พิพากษาแทน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 11 เพื่อให้ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นองค์คณะแทนที่มีเวลาเพียงพอ

กระทั่งวันที่ 26 ธ.ค.66 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดอ่านคำพิพากษาคดีโยกย้ายนายถวิลโดยมิชอบเป็นรอบที่ 3 ก่อนพิพากษายกฟ้อง โดยศาลฯเห็นว่าไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ระบุชี้ขาดเจตนาพิเศษ ทำให้เสียหาย อีกทั้งเป็นการโยกย้ายตามปกติ.