กรณีพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ส่งสำนวนให้อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. โดยกล่าวหาว่าเด็กชายอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างดังกลางเมือง ตกเป็นผู้ต้องหา ในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาอื่นๆ รวม 5 ข้อหา แต่เมื่อรายงานของแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยืนยันว่ายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงต้องตีกลับสำนวนไปให้ทางพนักงานสอบสวน ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

อัยการตีกลับสำนวนด.ช.วัย14กราดยิงพารากอน ชี้ขั้นตอนการสอบสวนแจ้งข้อหาไม่ชอบ

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อคืนสำนวนไปแล้ว ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวนไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 14 เนื่องจากกระบวนการใดๆ ที่พนักงานสอบสวนดำเนินการไปโดยไม่ยึดหลักกฎหมายดังกล่าว ก็ต้องถือว่าเป็นกระบวนการสอบสวนที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งคดีนี้ เมื่อได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน นางศจีมาศ บัวรอด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีและคณะทำงานอัยการ ได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังมีอาการป่วยอยู่ และเป็นคนไข้ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์มาโดยตลอด โดยมีใบรับรองประเมินผลการตรวจรักษา ยืนยันว่าผู้ต้องหายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันเช่นนี้ การพิจารณาของพนักงานอัยการไม่มีประเด็นอื่น นอกจากคืนสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนรอกระบวนการบำบัดรักษาจากคุณหมอที่ประเมินตรวจผู้ต้องหาว่าอยู่ในภาวะปกติ และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ภายในอายุความ 20 ปี

เมื่อการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายและทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ค่อยส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายอีกครั้ง จากการประสานกับคุณหมอทราบในเบื้องต้นว่า ช่วงเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการตรวจรักษาจะมีการประชุมเพื่อประเมินอาการของผู้ต้องหาอีกครั้ง แต่การควบคุมตัวตามกฎหมาย จะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้าย ในวันที่ 31 ธ.ค. นี้

นายประยุทธ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทางคุณหมอและคณะกรรมการตรวจรักษาผู้ต้องหา จะมีการเดินทางไปพบผู้ปกครองของผู้ต้องหา และจะมีการแจ้งว่าเด็กยังมีอาการป่วยอยู่ ทางทีมที่บำบัดรักษาจะขอรับตัวไปบำบัดรักษาต่อ หากผู้ปกครองเข้าใจและอนุญาต ก็จะรับตัวผู้ต้องหากลับไปเป็นคนไข้เพื่อรักษาต่อตามปกติ แต่สมมุติว่า ผู้ปกครองไม่ยอมและไม่อนุญาต หากทางคณะกรรมการของแพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นจะต้องดูแลผู้ต้องหาเพื่อป้องกันอันตราย สำหรับตัวผู้ต้องหาเอง และสังคมอาจจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 22 บังคับที่จะเอาตัวผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อ

ซึ่งระยะเวลาการควบคุมตัวของแพทย์ผู้รักษา มีกรอบกฎหมายชัดเจนอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 จะมีการแจ้งผลการตรวจรักษาให้กับพนักงานสอบสวน ทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หาย ก็สามารถขยายได้อีก 180 วัน ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ต้องหาจะหายและสามารถต่อสู้คดีได้ เพราะเราไม่สามารถจะนำคนป่วยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แต่ถ้าหายป่วยแล้ว ก็ไม่ต้องรอ 180 วัน ทีมแพทย์ที่รักษาสามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบ เพื่อดำเนินการสอบสวนได้ทันที