เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ อาคารกรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง นัดส่งตัวพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้พนักงานอัยการพิจารณาสำนวนเพื่อมีคำสั่ง จากกรณีที่ นายณฐพร โตประยูร แจ้งความดำเนินคดี จากกรณีจัดรายการใน Clubhouse เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564

โดยก่อนเข้าพบพนักงานอัยการ นายปิยบุตร กล่าวว่า จากกรณีจัดรายการช่วง มี.ค. 64 นายณฐพร ได้อ่านฟังข้อความหรือไม่ ตนไม่ทราบก็ไปแจ้งความพนักงานสอบสวน 17 เม.ย. 64 ตอนนี้ผ่านมา 9 เดือน สุดท้ายพนักงานสอบสวนมีความเห็นทำสำนวนมาส่งให้อัยการ ซึ่งการสอบสวนก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่สันนิษฐานว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีการควบคุมตัวใดๆ ทั้งสิ้น และให้สิทธิในการต่อสู้คดีเต็มที่ แต่สิ่งที่ตนจะตั้งข้อสังเกตไว้มาตลอด ก็คือตกลงเหลือประเทศไทยเราในกระบวนการยุติธรรมอาญาวิธีพิจารณาความอาญา เราจะเดินหน้ากันแบบไหน ตกลงแล้วจะให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่เป็นเหมือนคนส่งหมาย ส่งสำนวนมาให้อัยการโดยที่ไม่มีดุลพินิจอะไรเลย ซึ่งชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าพนักงานสอบสวนก็คงต้องสอบสวนให้เต็มที่ ตอนตนไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ตนขอสมมุติว่า ถ้าท่านมาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ถ้าเราคิดแบบทำเป็นโจทย์ข้อสอบ ตนเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย มันไม่เข้าองค์ประกอบความผิดเลย และตนจะไม่ต้องมารับทราบข้อกล่าวหา ไม่ต้องมานั่งถูกทำสำนวนส่งอัยการด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาเพราะเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับความมั่นคง ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนมันหายไปเลย และตามน้ำกันไปหมด ต้องลองดูว่าที่ผ่านมา มีจำนวนมากที่ศาลยกฟ้อง พนักงานสอบสวนต้องมีดุลพินิจ ซึ่งตนยืนยันว่า ถ้าเรื่องไหนมันไม่เข้าองค์ประกอบ ก็ควรจะไม่ต้องรับตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องทำสำนวนส่งมาที่อัยการ

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ฝ่ายบริหารรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนตอนช่วงหาเสียง โดยแกนนำของพรรคเพื่อไทยพูดไว้ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ 116 และกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพมันไม่ต้องไปแก้ไขหรือยกเลิก แค่จัดการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมก็เพียงพอแล้ว ใช้มาตรการบริหารทำกระบวนการยุติธรรมให้มันยุติธรรมก็พอแล้ว วันนี้รัฐบาลเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทบจะไม่เห็นพูดเรื่องนี้เลย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก แค่สั่งให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่อย่างมาตรฐานเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นคดี 112 หรือ 116 หรือคดีการเมือง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตนคนเดียว เป็นเรื่องของคนอีกมากมายที่เสียเวลาแบบนี้ และมันเปิดทางให้อาชีพใหม่มันเกิดก็คืออาชีพนักร้อง ซึ่งหน้าเดิมๆ ทั้งนั้น ขอฝากสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ทางนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

“ไปถามทนายผู้พิพากษาอัยการที่ไหนก็ได้ ถามนอกรอบก็ได้ว่า เคสตรงนี้มันเข้า 116 ตรงไหน มันยุยงปลุกปั่นไหม ผมเป็นคนบอกด้วยซ้ำว่าให้ทำและรณรงค์ให้ใจเย็นทั้งสองฝ่าย และกลายเป็นว่าผมปลุกปั่น ส่วนเรื่องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ เดี๋ยวต้องลองคุยกับทนายความดูว่าจะดำเนินการขั้นตอนอย่างไร แต่ลองคิดดู ประชาชนจำนวนมากอย่างเช่นประชาชนตาดำๆ นิสิตนักศึกษาโดน และมีภาระเต็มไปหมดแล้วบอกว่าจะปรองดอง บอกว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่เรื่องแบบนี้มันยังมีอยู่เต็มไปหมด มันจะจบไปได้ยังไง” นายปิยบุตร ระบุ

ภายหลังนายปิยบุตรได้เข้าไปพบพนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการสำนักงานอัยการกรุงเทพใต้ ได้นัดฟังคำสั่งครั้งแรกในวันที่ 8 ก.พ. 2567 ช่วงเช้า.