ในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละประเทศก็ออกมาตรการต่างๆ มาเร่งแก้ปัญหานี้ มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จสามารถลดมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะค่าฝุ่น PM 2.5  และประเทศที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

5 ประเทศอาเซียนที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุด ปี 2020

5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือกลุ่มประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5  สูงสุดในปี 2022 (พ.ศ.2565) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 มีดังนี้

1. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อันดับที่ 24 ของโลก) มีประชากร ประมาณ 273.7 ล้านคน มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่  30.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่  5 ไมโครกรัม ประมาณ 6.08  เท่า

2.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (อันดับที่ 29 ของโลก) มีประชากร ประมาณ 7.2 ล้านคน มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่  27.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่  5 ไมโครกรัม ประมาณ 5.52  เท่า

 3.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (อันดับที่ 30 ของโลก)  มีประชากร ประมาณ 97.4 ล้านคน มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่  27.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่  5 ไมโครกรัม ประมาณ 5.44  เท่า

4.สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (อันดับที่ 35 ของโลก) มีประชากร ประมาณ 53.7 ล้านคน มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่  24.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่  5 ไมโครกรัม ประมาณ 4.86  เท่า

5.ประเทศไทย (อันดับที่ 57 ของโลก) มีประชากร ประมาณ 71.6 ล้านคน มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่  18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่  5 ไมโครกรัม ประมาณ 3.62 เท่า

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในหลายจังหวัดของไทยที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ นอกเหนือจาก จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดนนทบุรี

**แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.iqair.com/th/world-most-polluted-countries

*** จำนวนประชากร อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารโลก

แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากแหล่งกำเนิดภายในประเทศ ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากยานพาหนะ การเผาไหม้ชีวมวลเพื่อการเกษตร และการเผาไหม้ขยะมูลฝอย

ภาครัฐและภาคเอกชนจึงได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น มาตรการด้านการควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ ได้แก่ การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การบังคับใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ที่เข้มงวด และการรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถสาธารณะหรือเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว

มาตรการด้านการควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ การบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้มงวด และการรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้พลังงาน

มาตรการด้านการจัดการขยะมูลฝอย ได้แก่ การลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดจากครัวเรือน การคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อนำไปรีไซเคิล และการฝังกลบขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี

นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนยังได้มีการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดระหว่างประเทศ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านคุณภาพอากาศ การประสานงานในการบังคับใช้กฎหมาย และความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเผาไหม้ป่าและหญ้า

ฝุ่น PM 2.5 มีปัจจัยที่ควบคุมได้และไม่ได้

รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ “เดลินิวส์” ถึงภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นใน กทม.ช่วงระยะ 2 ปีตั้งแต่เข้ามาบริหารงานว่า ในส่วนที่เราควบคุมเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผา ในที่โล่ง หรือการเผาในเขตที่มีการทำเกษตรกรรม เรื่องรถยนต์ต่างๆ ก็พยายามทำเต็มที่ ดังนั้นในแง่ของการกำจัดต้นตอ เราก็พยายามทำ เชื่อว่าการเผาชีวมวลน้อยลงไปเยอะ เพราะมีเครื่องอัดฟางที่นำไปแจกประชาชน ในส่วนของรถยนต์ก็มีมาตรการเช่น การให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรอง

ส่วนมาตรการภาพใหญ่นั้น  กทม.ก็พยายามจะออกข้อบัญญัติที่จะให้รถเมล์ทุกคันเป็นรถไฟฟ้าภายใน 7 ปี แต่ปรากฏว่า มีข้อจำกัด เนื่องจากกฤษฎีกา ระบุว่า กทม.ไม่มีอำนาจ เพราะฉะนั้นแล้วการกำจัดต้นตอ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเห็นการตื่นตัว ที่เยอะมากขึ้น

เรื่องต่อไปคือ เรื่องการพยากรณ์เตือนภัยเราทำได้ดี เรามีแอปฯ Air BKK ที่มีการพยากรณ์ได้แม่นยำมากขึ้น มีประชาชนใช้บริการ  มีการให้ข้อมูล การให้การพยากรณ์กับสื่อมวลชน เพราะฉะนั้นการพยากรณ์การคาดการณ์ดีขึ้น  ส่วนการดูแลป้องกันประชาชนนั้น กทม.มีการทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบาง ส่วนโรงเรียนก็มีทุกแห่งแล้วเป็นห้องประชุม และทำห้องปลอดฝุ่นเสริมในโรงเรียนอนุบาล การให้ความรู้ในคลินิกต่างๆ ก็พยายามทำเต็มที่

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาในหลายๆเรื่อง มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งเรื่องฝุ่น ก็อาจเป็นปัญหาเศรษฐกิจด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรู้ว่ารถดีเซลเก่าเป็นตัวปล่อยฝุ่น หากจะไปบังคับให้ทุกคนต้องมีรถใหม่หมดก็จะกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือในหลายๆ ด้าน เชื่อว่าการเปลี่ยนน้ำมันเป็นยูโร 5 ในต้นปีที่ผ่านมานั้น ในระยะยาวจะเห็นผลอย่างชัดเจนว่าลดฝุ่นได้ถึง 15 % เพราะฉะนั้นจึงอยากบอกว่า มีปัจจัยที่ทั้งควบคุมได้ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

ยกตัวอย่างเรื่องของสภาพอากาศ การถ่ายเทอากาศ เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อย่างแน่นอน ในบางวันจะเห็นว่า มีอากาศที่โปร่งขึ้นทั้งที่การปล่อยฝุ่น PM 2.5 เท่าเดิม รถก็ไม่ได้ลดลง ดังนั้นบาง Sector เราควบคุมไม่ได้จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงจะไปเน้นเรื่องของการป้องกันและให้ความรู้เพิ่มเติม

ชักธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน

ส่วนคำถามว่า ที่ผ่านมา กทม. มีปัญหาในการส่งข้อมูลข่าวสารไปถึงยังประชาชนบ้างหรือไม่ รศ.ชัชชาติ ตอบว่า เราพยายามมากขึ้น สิ่งที่ทำได้ดีคือเริ่มจากเด็ก โดยให้เด็กนักเรียนสังกัดกทม. จำนวน 250,000 คน มอนิเตอร์ตรวจเช็กดูค่าฝุ่นทุกเช้า ด้วยการชักธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ทำให้เด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังครอบครัวและชุมชนด้วย เชื่อว่า ความเข้าใจเริ่มมากขึ้น

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงเข้าใจคลาดเคลื่อน อยู่ คือค่า AQI กับ PM 2.5 เพราะบางคนอ่านตัวเลข AQI จะมีก๊าซ 6 ชนิดรวมกัน และมีค่า PM อยู่ด้วย ทำให้ตัวเลขขึ้นไปหลักร้อย แต่ กทม.จะยึด PM 2.5 เป็นหลัก เพราะฉะนั้นเวลาอ่าน จึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า เราอ่านตัวเลขไหนอยู่ เพราะถ้าเราดูค่า AQI พบว่าค่าจะสูงมาก  ดังนั้นถ้าเรานึกว่า AQI เป็น PM 2.5 ก็จะดูเป็นสีแดงตลอด ทั้งตนเชื่อว่าประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องนี้เยอะขึ้น

หนุนมีแอปฯ รวมข่าวภาครัฐ-พ่วงคำแนะนำ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังให้ความเห็นกรณีถ้าจะมีแอปพลิเคชั่น หรือเครื่องมือที่เป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารของภาครัฐทั้งหมด และสื่อมวลชน (บางส่วน) เพื่อเป็นสื่อกลางไปถึงประชาชน อาทิ ข่าวสารเรื่อง  PM 2.5 เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ในขณะเดียวกันอาจจะไม่มีแค่การรวบรวมข่าวอย่างเดียว แต่ควรจะมีการกรอง การจัดหมวดหมู่ และมีคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนอกจากรวบรวมข่าวแล้วควรจะมีคำแนะนำ มีเชิงวิชาการ  ย่อยข่าวเหล่านี้ด้วย และบางทีคนก็ไม่ชอบอ่านข่าวยาวๆ ถ้าสามารถรวบรวมข่าวเหล่านี้ให้เป็น ประเด็นสั้นๆให้คนอ่าน ก็จะดีมาก

สำหรับคำแนะนำถึงชาวกรุงเทพมหานครในการดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เจ็บป่วยนั้น รศ.ชัชชาติ กล่าวว่า ถ้ามีรถยนต์ เป็นรถดีเซลก็ควรจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเปลี่ยนไส้กรองตอนนี้เลยอย่าไปรอ และมีส่วนร่วมในการลดฝุ่น ปัจจุบันใครเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรอง ทางเอกชนที่เข้าร่วมโครงการก็ลดราคาให้แล้วติดมีสติ๊กเกอร์ ลดฝุ่นอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ถ้าไปจอดรถที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาก็จะได้จอดฟรีเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง 

ส่วนในแง่การดูแลตัวเอง เช่นกลุ่มเปราะบาง ต้องใส่หน้ากากอนามัย และคอยดูแอปฯ ว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไร จะมีคำเตือนว่าทำกิจกรรมภายนอกได้หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะเด็กเล็กก็ต้องดูแล เพราะบางครั้งเด็กใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้ และหากฝุ่นเข้าไปในร่างกายของเด็กๆ ก็จะอยู่ไปนานกว่าผู้ใหญ่