จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 พบว่า มีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคอีสาน สาเหตุหลักมาจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การเผาขยะ การจราจร ควันพิษจากรถยนต์ การปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองจากพื้นที่ก่อสร้าง ตลอดจนหมอกควันข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

บางเขตพื้นที่อยู่ในระดับสีแดง ส่งผลให้ประชาชนเกิดความกังวลใจต่อการใช้ชีวิตในการเผชิญฝุ่นพิษ ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงหลายคนไม่เชื่อมั่นการแก้ปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะประเด็นการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ถูกหยิบยกเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 62 แล้ว นับถึงเวลานี้ก็ผ่านมา 6 ปีกว่าแล้ว แต่ทุก ๆ ปี ประชาชนยังต้องเผชิญปัญหาไม่จบสิ้น

รายการ Sustainable Daily Talk ออกอากาศทางช่องทางยูทูบ Dailynews Online ออกอากาศทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 16.30-17.00 น. ได้สายตรงถึง “รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา” นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และอดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะสจล. ซึ่งตามติดเรื่องปัญหาฝุ่นมาอย่างยาวนาน พร้อมเปิดข้อเสนอต่อมาตรการในการดูแลป้องกันภัยร้ายด้านสุขภาพที่มองไม่เห็นดังกล่าว

รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ ระบุว่า จากการศึกษาสถานการณ์ของฝุ่นตั้งแต่ที่เราเริ่มวัดฝุ่นได้ และเริ่มเข้าใจพฤติกรรมของฝุ่นมาตั้งแต่ปี 61 จนถึงปัจจุบัน ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติของกรุงเทพฯ โดยในช่วงปลายปีเดือน พ.ย.-ต้นปีเดือน ก.พ. จะเป็นช่วงที่สภาพอากาศโดยรวมถูกปกคลุมไปด้วยมวลความกดอากาศสูงที่ไปกดดันไว้ทำให้ปริมาณของฝุ่นไม่สามารถลอยออกไปได้มากนัก สาเหตุหลัก ๆ ของกรุงเทพฯ จะมาจากปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด ควันดำจากดีเซล โดยปกติแล้ว ควันจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เหล่านี้ หากอากาศเปิดควันก็จะลอยตัวขึ้นข้างบนและพัดออกไปโดยอัตโนมัติ แต่ในเขตกรุงเทพฯ มีตึกสูงเป็นจำนวนมาก ช่วงจังหวะที่ฝุ่นลอยตัวขึ้นมาจึงหาทางออกยาก ทำให้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของประชาชนจำต้องอยู่กับฝุ่นในปริมาณที่สูง

“ในมุมของนักวิชาการที่ได้ทำการวิจัยและศึกษา PM2.5 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เราได้ชี้แจงวิธีการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา หลายคนกลับคิดว่า มันไม่รุนแรง จนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยไม่คำนึงถึงผลในระยะยาวว่า ฝุ่นเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดมะเร็งถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ จริงอยู่ที่ฝั่งรัฐบาลก็ได้กำหนดวาระแห่งชาติและเขียนมาตรการในการป้องกันตามที่เสนอไปทั้งหมด แต่ที่ยังขาดไปคือ ความต่อเนื่องในการลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว แก้ปัญหาแค่ 2-3 เดือน อีก 9-10 เดือนที่เหลือก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง”

ฝั่งรัฐบาลเมื่อดำเนินการแล้วจะต้องให้ประชาชนเห็นอย่างจริงจัง และชัดเจน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจว่า รัฐไม่ได้เพิกเฉยต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นเหตุของปัญหาในแต่ละพื้นที่ว่าจะต้องแก้จากจุดใด หรือส่วนไหนที่เป็นเหตุปัจจัยภายในที่สามารถลงมือทำได้ทันที เช่น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสาเหตุหลักมาจากมลพิษที่เกิดจากการจราจร เมื่อส่งเสริมการใช้รถ EV แล้ว รัฐจะต้องมีนโยบายในเชิงของการกระตุ้น การสนับสนุน และติดตามผลในการปล่อยมลพิษดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับในส่วนของเชียงใหม่ ซึ่งมีค่าฝุ่นสูงติดอันดับโลก มีสาเหตุสำคัญมาจากการเผาพืชผลทางการเกษตร รัฐบาลอาจต้องใช้เหตุผลทางรัฐศาสตร์ในการเจรจาต่อรองเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการในการลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน ซึ่งผมได้ทำข้อเสนอเป็น 3 ส่วน เริ่มจาก

ข้อเสนอด้านภาครัฐ

ภาครัฐจะต้องมีการชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนตื่นรู้และทำความเข้าใจในการป้องกันตนเอง ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีการออกนโยบายหรือมาตรการที่จะกระตุ้นให้หน่วยงาน องค์กร รวมถึงประชาชนเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต วิถีการดำเนินธุรกิจ ให้มีความสอดคล้องกับการลดมลพิษทางอากาศ เช่น ภาครัฐเองได้มีการสนับสนุนการใช้รถพลังงานไฟฟ้า แต่อาจต้องหนุนด้วยการลดภาษี หรือส่งเสริมให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้ มีการตรวจเข้มเรื่องของพาหนะก่อฝุ่น ก่อควันดำทั้งหลาย การสำรวจโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อตัดสินให้การอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาควบคุมอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการสนับสนุนภาษีฝุ่นหยุดมลพิษ เมื่อองค์กรหรือหน่วยงานใดเข้ามาช่วยลดมลพิษ รัฐควรจะลดภาษีให้เป็นการตอบแทน รวมถึงการผลักดัน พ.ร.บ. สะอาดให้มีความต่อเนื่องก็ถือเป็นอีกส่วนที่สำคัญเช่นกัน และที่สำคัญอยากให้มีห้อง
ปลอดฝุ่น ในอาคารพื้นที่สาธารณะ หรือในพื้นที่หน่วยราชการ องค์กรภาคเอกชน จัดเป็นห้องปลอดฝุ่น มีเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะสมให้สำหรับคนที่แพ้ฝุ่นอย่างหนักเข้ามาใช้บริการ ซึ่งช่วงไหนที่ปัญหาฝุ่นเบาบาง ก็ให้ปรับเพิ่มที่ไปใช้อย่างอื่นได้

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ยังมีประชาชนที่เป็นผู้ด้อยโอกาส เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันต่าง ๆ อยู่อีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งรัฐควรมีการให้ความสำคัญกับประชาชนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าคาดหวังให้กลุ่มนี้เปิดแอป อาจไม่สะดวก อาจใช้วิธีการปักธงสีต่าง ๆ ตามระดับเตือนค่าฝุ่น เช่น สีเขียว สีแดง สีส้ม ตามพื้นที่ชุมชนหรือบริเวณสี่แยกไฟแดง ณ จุดต่าง ๆ หรือให้วินมอเตอร์ไซค์ ช่วยเป็นอาสาในการติดตั้งธงสีต่าง ๆ ตามสี่แยกไฟแดง ที่เห็นได้ชัด หากมีงบประมาณในการติดตั้งป้ายไฟสัญลักษณ์หรือข้อความ แจ้งเตือนให้ทราบถึงค่าฝุ่นว่าอยู่ในระดับใด ในจุดที่เห็นได้ชัด ก็จะยิ่งสะดวกและง่ายต่อการสังเกตเห็นของประชาชนยิ่งขึ้น

ข้อเสนอด้านภาคประชาชน

ประการแรกภาคประชาชนเองจะต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และป้องกันตัวด้วยวิธีง่าย ๆ ด้วยการใส่หน้ากาก N 95 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัวอย่างภูมิแพ้ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อฝุ่นเป็นพิเศษ ประการต่อมาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น หรือได้รับฝุ่นเต็มที่ เช่น ช่วงหน้าฝุ่นเปลี่ยนจากวิ่งออกกำลังกายช่วงเช้ามาวิ่งช่วงเย็นแทน หรือการงดให้นักเรียนเข้าแถวทำกิจกรรมหน้าเสาธงในช่วง PM2.5 สูง และประการสุดท้ายเมื่อสำรวจตนเองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพก็ควรที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาแนวทางในการดูแลร่างกายต่อไป

ข้อเสนอด้านสถาบันการศึกษา

สถาบันการศึกษาจะต้องสร้างนวัตกรรมที่ให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะด้วยการเข้าไปศึกษาเรื่องของกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ในการป้องกันและสุขภาพให้กับประชาชนในการดำเนินชีวิตท่ามกลาง PM2.5 รวมถึงการจัดทำห้องปลอดฝุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารสาธารณะ จำเป็นที่จะต้องมีห้องปลอดฝุ่น โดยเครื่องฟอกอากาศติดตั้งไว้ให้สำหรับนิสิตนักศึกษาหรือประชาชนทั่วไปได้เข้าไปใช้บริการยามจำเป็น ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น สจร. ได้มีห้อง Clean Room ต้นกำเนิดในการทำป้ายรถเมล์อัจฉริยะ โดยในห้องดังกล่าวเป็นห้องสำหรับรอรถเมล์ ซึ่งจะมีเครื่องฟอกอากาศติดตั้งไว้ ถือเป็นไอเดียที่ป้องกันประชาชนที่อาจได้รับความเสี่ยงจากการสูดดมฝุ่นข้างถนนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หากเป็นห้องที่ไม่ได้มีเครื่องฟอกอากาศติดตั้งก็ควรจะมีการออกแบบให้เป็นห้องที่โปร่งและสามารถรับลมได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งในหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ควรจะต้องมีการสร้างจุดตรวจวัดค่าฝุ่นและแสดงข้อมูลให้เห็นได้อย่างเป็นประโยชน์.

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]