สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ว่า อัยการในเขตแมนฮัตตัน ของนครนิวยอร์ก กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 นายทาเคชิ เอบิซาวะ สมคบคิดในการขนส่งวัสดุที่มียูเรเนียม และพลูโตเนียมสำหรับการผลิตอาวุธ ซึ่งเชื่อว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น อิหร่าน อาจนำมันไปใช้ในการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ได้

เอบิซาวะ วัย 60 ปี และจำเลยร่วมอีกคนหนึ่ง เคยถูกตั้งข้อหาลักลอบค้ายาเสพติด เมื่อเดือน เม.ย. 2565 ซึ่งพวกเขาถูกจับกุมในเขตแมนฮัตตัน และผู้พิพากษาในนครนิวยอร์ก สั่งให้คุมขังผู้ต้องหาทั้งสองคน แม้พวกเขาจะให้การปฏิเสธก็ตาม

ตามรายละเอียดในการฟ้องซ้ำ เอบิซาวะ กล่าวกับสายลับ 2 คน เมื่อช่วงต้นปี 2563 ว่า เขาสามารถเข้าถึงวัสดุนิวเคลียร์ “จำนวนมาก” ที่เขาต้องการขาย ซึ่งสายลับคนหนึ่งตอบกลับว่า พวกเขามีผู้ซื้อที่สนใจ โดยอ้างว่าเป็นนายพลชาวอิหร่านคนหนึ่ง

นอกจากนี้ เอบิซาวะ ยังมีส่วนร่วมเพิ่มเติมกับสายลับ เนื่องจากเขาแสดงความสนใจที่จะซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารอื่น ๆ เช่น ขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ (เอสเอเอ็ม) ซึ่งเขากล่าวว่า กลุ่มก่อความไม่สงบในเมียนมา สามารถนำมันไปใช้ได้

อนึ่ง การตกลงข้างต้นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน โดยผู้สมรู้ร่วมคิดคนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเอบิซาวะ จากการบอกกับสายลับว่า พวกเขามี ทอเรียม-232 มากกว่า 2,000 กิโลกรัม และมียูเรเนียมอีกมากกว่า 100 กิโลกรัม พร้อมกับเสริมว่า ธาตุเหล่านี้สามารถนำไปผลิตวัสดุนิวเคลียร์ในเมียนมา ได้มากถึง 5 ตัน

ในการนัดพบระหว่างกลุ่มของเอบิซาวะ กับสายลับ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในผู้สมคบคิดของเอบิซาวะ พาสายลับเข้าไปในห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่ง และแสดงภาชนะพลาสติก 2 อัน พร้อมตัวอย่างของวัสดุนิวเคลียร์ให้อีกฝ่ายดู แต่หลังจากนั้น ทางการไทยได้ช่วยเหลือในการยึดวัสดุ และส่งมอบให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐ ซึ่งผลการทดสอบตัวอย่างยืนยันว่า วัสดุดังกล่าวมียูเรเนียม, ทอเรียม และพลูโตเนียมอยู่จริง

“ตามข้อกล่าวหา จำเลยในคดีนี้ค้ายาเสพติด อาวุธ และวัสดุนิวเคลียร์ จนถึงขั้นเสนอขายยูเรเนียม และพลูโตเนียมสำหรับการผลิตอาวุธ โดยคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า อิหร่านจะใช้มันในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์” นางแอนน์ มิลแกรม ผู้บริหารสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐ (ดีอีเอ) กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP