นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการจัดสรรอัตรากำลัง และการสรรหาพนักงาน 5% (ระยะ 4 ปี 2563-2566) ตามนัยแห่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 41 รวมประมาณ 80 คน โดยอัตราดังกล่าวเป็นไปตามมติ ครม. ที่ให้ รฟท. สามารถรับบุคลากรได้เพิ่ม 5% ของจำนวนผู้เกษียณอายุในแต่ละปี ซึ่งการดำเนินการตามมติดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน รฟท. มีพนักงานลดลงเหลือประมาณ 9,000 คน จากเมื่อปี 41 มีพนักงานประมาณ 1.8-2 หมื่นคน ขณะที่การให้บริการเดินขบวนรถไฟไม่ได้ลดลง ยังอยู่ที่ประมาณ200 ขบวนต่อวัน

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า จำนวนพนักงานปัจจุบันกว่า 9,000 พันคน เป็นอัตราที่รวมกับที่ รฟท. ได้ทำเรื่องขอเพิ่มอัตรากำลังคนมาจาก ครม. เมื่อปี 62 ประมาณ 1,300 คนแล้ว ซึ่งเพิ่งจะทยอยบรรจุได้ครบตามจำนวนดังกล่าวเมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้นในส่วนของมติที่ให้เพิ่ม 5% จากอัตราเกษียณ จึงได้ทบรวม 4 ปี ตั้งแต่ปี 63-66 มาขอจัดสรรเพิ่มในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีพนักงานเกษียณอายุประมาณ 300-400 คน โดยเรื่องการขาดคน ถือเป็นวิกฤติของ รฟท. ซึ่งการให้เพิ่มคนได้เพียง 5% ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และบริบทที่อยากให้ระบบขนส่งทางรางเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ โดยวันนี้ขนาดยังไม่ได้รถใหม่มา งานยังล้นคน และทำให้รายจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) เพิ่มขึ้นด้วย 

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตำแหน่งที่ขาดแคลนพนักงานค่อนข้างมากคือ พนักงานขับรถไฟ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,078 คน ขาดอยู่ 180 คน และพนักงานช่างเครื่อง มีอยู่ 765 คน ขาดอยู่ 493 คน โดยในช่วงที่ผ่านมา รฟท. พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการฝึกอบรมพนักงานช่างเครื่อง ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อให้มาเป็นพนักงานขับรถ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี แต่ในระยะหลังมีเทคโนโลยีเข้ามา จึงทำให้กระบวนการฝึกอบรมพนักงานช่างเครื่อง ใช้เวลาลดลงเหลือประมาณ 3-4 ปี แต่ยังเป็นการที่ฝึกอย่างเข้มข้น และให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แต่การดำเนินการดังกล่าว ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ จะช่วยผลิตบุคลากรแต่ก็ไม่เพียงพอ

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ รฟท. ตั้งงบประมาณปี 67 เพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาเรื่องอัตรากำลังคนที่เหมาะสมของ รฟท. บนบริบทใหม่ที่ รฟท. จะมีทางคู่ รวมทั้งรถใหม่ ว่าจะต้องการเพิ่มพนักงานในแต่ละฝ่ายอีกเท่าไหร่ ยังตอบไม่ได้ว่าจำเป็นต้องถึง 1.8 หมื่นคน เท่ากับจำนวนก่อนหน้านี้หรือไม่ เบื้องต้นจะใช้เวลาศึกษา 9 เดือน แต่รวมกระบวนการต่างๆ ก็ประมาณ 1 ปี เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการเสนอขออัตรากำลังเพิ่มจากกระทรวงคมนาคม และ ครม. ต่อไป เพราะหากปล่อยไว้เช่นนี้ ในอนาคต หาก รฟท. มีราง มีรถ แต่ไม่มีคนขับ ไม่มีช่างเครื่องก็ไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ส่วนการจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า(บทต.) หรือแคร่ขนสินค้า 946 คัน ได้เสนอกระทรวงคมนาคม เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้ว

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดทำแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยปี 66-70 (แผนฟื้นฟู รฟท.) นั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการทบทวนแผนฯ เพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งแผนฯ ฉบับใหม่นี้ รฟท. เน้นเดินหน้าเชิงรุกทางการตลาดมากขึ้น ต้องวิ่งหาลูกค้า มีบริการรถท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าทางราง และการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากแผนเดิม ที่ไม่เน้นเรื่องการตลาด จะให้คนเดินมาซื้อตั๋วเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะสามารถทำให้ รฟท. มีผลการดำเนินงานลดการขาดทุน และมีกำไร รวมทั้งสร้างประโยชน์ทางอ้อมให้กับประเทศด้วยตามนโยบายกระทรวงคมนาคม เช่น ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น ส่วนเรื่องค่าโดยสาร ได้มีการตั้งสมมุติฐานการปรับค่าโดยสารไว้ในแผนฯ เช่นกัน ส่วนจะเป็นเท่าใด เวลานี้ยังตอบไม่ได้ หากเรื่องนี้ได้รับการอนุมัติเมื่อใด รฟท. จะเดินหน้ารายละเอียดเรื่องนี้ทันที.