เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน ตั้งอยู่บ้านศาลาลูกไก่ หมู่ 6 ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็น 1 พื้นที่ในกำหนดการ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 29 ก.พ. 67 ที่จะถึงนี้

ฟิตไม่หยุด ‘เศรษฐา’ ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ครั้งแรก 27-29 ก.พ.นี้

ซึ่งพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอานแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 โดยนายมาหามะนุทรี หะยีสาแม ด้วยการรวบรวมประเภทคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่คัดด้วยลายมือ ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลาม ที่ตกทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน ที่มีอายุตั้งแต่ 150 ปี ถึง 1,100 ปี ที่มีลวดลายสวยงามใช้สีประดับกรอบด้วยทองคำเปลว เขียนด้วยศิลปะมลายูนูซันตาราจีนและอาหรับผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน และที่เป็นจุดไฮไลต์ของคัมภีร์อัลกุรอานที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุด คือ คัมภีร์อัลกุรอาน ที่ลงลวดลายอักษรในหนังแพะ ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 1,030 ปี ช่วงสมัยที่ยังไม่มีกระดาษ และรองลงมาคือคัมภีร์อัลกุรอานที่ลงอักษรลงในเปลือกไม้ ในศตวรรษที่ 18 ที่มีอายุกว่า 300 ปี

ส่วนคัมภีร์อัลกุรอานปัจจุบันที่พิพิธภัณฑ์อัลกุรอานวัฒนธรรมอิสลามแห่งนี้ ได้รับการบริจาคจากกลุ่มประเทศต่างๆ และได้ทำการซ่อมแซมบูรณะตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง มีจำนวนทั้งสิ้น 79 เล่ม ยังไม่รวมถึงการรอบูรณะซ่อมแซมในจำนวนทั้งสิ้นกว่า 100 เล่ม โดยทางพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามแห่งนี้ ได้มีการจัดคัมภีร์อัลกุรอานออกเป็น 8 กลุ่ม ที่ได้รับการบริจาค คือ 1. คัมภีร์อัลกุรอานจากมลายูนูซันตารา หรืออาเซียน 2.อินเดีย 3.จีน 4.เปอร์เซีย 5.อียิปต์ 6.สเปน 7.แอฟริกา และ 8.อุซเบกิสถาน

นอกจากนี้ ภายในอาคารมีการจัดนิทรรศการออกเป็น 3 ห้อง ห้องที่ 1 ห้องบรรยายเกริ่นนำ ห้องที่ 2 เนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตวิถีมุสลิม ตามแนวทางที่ศาสนาบัญญัติไว้และแนะนำสถานที่สำคัญๆ และห้องที่ 3 เป็นเนื้อหาการเผบแผ่ศาสนาอิสลามสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย โดยคัดเลือกคัมภีร์อัลกุรอาน จัดแสดงเป็นชิ้นหลักชิ้นรอง ด้วยการจัดทำ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และมลายูปัตตานี

ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะใช้พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอานแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางอิสลามในการเชื่อมการท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้พหุวัฒนธรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ลือชื่อของจังหวัดนราธิวาสในอนาคต นอกเหนือจากคัมภีร์อัลกุรอานแล้ว ยังมีโครงสร้างอาคารภายนอกเป็นอาคารแบบไทยท้องถิ่นใต้ ผสมผสานลวดลายศิลปะมุสลิมที่สวยงามตระการตา

นายมาหามะนุทรี หะยีสาแม ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์เรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า เมื่อรู้ว่าประเทศไทยเราเป็นศูนย์อนุรักษ์ เขาก็พยายามส่งต่อเพื่อมอบให้ดูแล จะให้คัมภีร์ได้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่คงทนกับพี่น้องมุสลิม เพื่อที่จะได้นำมาศึกษาวิจัย