เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  (ปภ.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2567ที่ผ่านมา ปภ. ได้เข้าชี้แจงงบประมาณต่อคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.)ด้านการปกครองใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะอนุกมธ. ได้ปรับลดงบประมาณรายการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (Helicopter) ซึ่งเป็นสรรพกำลังเครื่องจักรกลต้านสาธารณภัยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติภารกิจแก้ไขและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยที่เข้าถึงยากและมีความอันตราย  ซึ่ง ปภ. จะหารือและจัดเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของคณะอนุ กมธ.ในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้มีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัยในการเตรียมความพร้อม และตอบสนองในการจัดการสาธารณภัยในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ปภ. มีเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA- 32 ประจำการในหน่วยบินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเผชิญเหตุและตอบโต้ภัยพิบัติฉุกเฉิน เช่น การเข้าระงับเหตุอัคคีภัยในอาคารสูง การดับไฟป่า การช่วยเหลือ และขนย้ายผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยากลำบาก รวม จำนวน 4 ลำ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาสาธารณภัยทั่วประเทศ ปภ. จึงได้บริหารจัดการทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA -32 ไปประจำการในจังหวัดต่างๆเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาสาธารณภัยในระดับพื้นที่

“ทั้งนี้หากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย จึงจำเป็นต้องมีจำนวนเพียงพอในการหมุนเวียนสับเปลี่ยนการปฏิบัติงานของเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย  KA- 32 ให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยตามหลักนิรภัยการบิน รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาและบรรเทาสาธารณภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติ รวมถึงสร้างความปลอดภัยแก่ประซาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”อธิบดี ปภ. กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย K4-32 เข้าประจำการในหน่วยบิน ปภ. เมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2567) มีจำนวนรวม 4 ลำ โดยในช่วงที่ผ่านมา ปภ. ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA- 32 เข้าปฏิบัติภารกิจสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภารกิจดับไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือร่มกับกองทัพภาคที่ 3 ภารกิจควบคุมพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอส จ.สมุทรปราการ ภารกิจดับไฟป่าเขาแหลม จ.นครนายก ภารกิจการขนส่งสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในจ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งทำการฝึกการป้องกันระงับอัคคีภัยในอาคารสูง และการฝึกซ้อมค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ถือได้ว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีสมรรถะสูง ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อใช้ในการดับเพลิงพื้นที่อาคารหรือตึกสูง รวมถึงการกิจคันหาและกู้ภัย โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์กู้ภัยดับเพลิง รอกไฟฟ้า เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงมีถังบรรทุกน้ำขนาด 3,000 ลิตร และกระเช้าตักน้ำขนาด 5,000 ลิตร จึงถือเป็นสรรพกำลังสำคัญของประเทศที่สามารถตอบโจทย์ในด้านศักยภาพทั้งการป้องกัน การลดผลกระทบ การเผชิญเหตุ การบรรเทาสาธารณภัย การให้ความช่วยเหลือประชาชน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย.