จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมยาวนานกว่า 5,000 ปี ผ่านวิกฤติมาหลายยุคสมัย มีศิลปะวิทยาการ และประสบการณ์มากมายให้เรียนรู้ ปัจจุบันมีลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลกระจายอยู่ทั่วโลก จำนวนไม่น้อยกลายมาเป็นบุคคลชั้นนำในหลายๆ แวดวง เฉพาะในประเทศไทย มีชาวไทยเชื้อสายจีน หรือคนจีนที่เกิดในประเทศไทย เป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีนกว่า 10 ล้านคน ส่วนใหญ่บรรพบุรุษจะมาจากซัวเถา ในมณฑลกวางตุ้ง ตอนใต้ของจีน พูดภาษาแต้จิ๋ว รองลงมาคือแคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ

สีสัน 2 ฝั่งแม่น้ำนครกว่างโจว (กวางเจา) ยามค่ำคืน

เมื่อเร็วๆ นี้ อาศรมสยาม-จีนวิทยา ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยสมาคมปัญญาภิวัฒน์ ภายใต้การบริหารของซีพี ออลล์ ได้จัดโครงการ “เยือนกวางเจา-ซัวเถา เยี่ยมบ้านเก่าไทยเชื้อสายจีน” เพื่อพากลุ่มสื่อมวลชนไปลงพื้นที่เยี่ยมชมสัมผัสกับเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเล เพื่อนำมาถ่ายทอดให้ผู้ใฝ่รู้ทางจีนวิทยา ได้ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้วงการจีนศึกษาในสังคมไทยต่อไป

ท่าเรือจางหลิง เมืองซัวเถา เป็นเมืองท่าที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อการอพยพของชาวจีนผ่านเรือสำเภาหัวแดงไปยังต่างประเทศ
พิพิธภัณฑ์มณฑลกวางตุ้ง

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ภาพกว้างของมณฑลกวางตุ้ง จุดเริ่มต้นที่ดีคือ พิพิธภัณฑ์มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong Museum) ตั้งอยู่ในนครกว่างโจว หรือคนไทยเรียกติดปากว่า “กวางเจา” เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2502 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับมณฑลในยุคแรกที่ได้รับการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของจีน บนพื้นที่ก่อสร้างกว่า 77,000 ตร.ม. มีการจัดนิทรรศการ 200 ครั้ง ต้อนรับผู้เยี่ยมชมกว่า 2 ล้านคนต่อปี ห้องนิทรรศการหลักมี 5 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น รวบรวมทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะไม้ เครื่องปั้นดินเผา เอาไว้ที่เดียวอย่างครบถ้วน

แต่หากใครจะมุ่งหน้ามาที่ซัวเถาเลย ปัจจุบันก็มีสายการบินให้บริการบินตรงจากประเทศไทยมาที่นี่ได้เลย และเชื่อว่าหลังการยกเว้นตรวจลงตราระหว่างกัน (ฟรีวีซ่า) ตั้งแต่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป จะทำให้ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลหลั่งไหลมาที่นี่มากขึ้น

ศูนย์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแต้จิ๋ว-ซัวเถา

นครซัวเถาในอดีตหลังยุคสิ้นสุดสงครามฝิ่น ชาวต่างชาติได้เข้ามาประกอบธุรกิจพาณิชย์นาวีที่นี่ เริ่มมีตัวอย่างของรุ่นบุกเบิกที่ออกไปแสวงโชคต่างแดน จนเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวแต้จิ๋วระลอกแล้วระลอกเล่าเดินหน้าลงเพื่อไปหาที่ทำกินในแผ่นดินอื่น

ปัจจุบันนครซัวเถาได้ยกฐานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 การพัฒนาทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งการเพิ่มจำนวนประชากร โดยช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 นครซัวเถามีประชากรประมาณ 5.78 ล้านคน ส่วนที่อาศัยในเมืองส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาแต้จิ๋วเป็นหลัก ขณะที่ชาวต่างถิ่นที่เข้ามาประกอบอาชีพจะใช้ภาษาจีนกลาง

สุสานพระเจ้าตากสิน

ในนครซัวเถาแห่งนี้ ยังมี “สุสานพระเจ้าตากสิน” หรือ “เฉิงไห่เจิ้งหวังมู่” (หมายถึง สุสานแต้อ๋อง ณ เถ่งไฮ่) ตั้งอยู่ที่ อำเภอเถ่งไฮ่ เป็นสุสานที่ฝังฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองในเขตเถ่งไฮ่ ซึ่งในแต่ละปียังมีชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยแวะเวียนมาสักการะ เล่ากันว่าหลังพระองค์เสด็จสวรรคต พระญาติได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามาฝังที่เถ่งไฮ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้อนุชนชาวจีนแต้จิ๋วรำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน อีกด้วย