เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรอง ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำเร่งด่วนแบบรายชั่วโมงของปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา พบว่า เขื่อนภูมิพล ยังมีปริมาณน้ำไม่มากนัก คือ 47% ของความจุรวม เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 43% ของความจุ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 85% ของความจุ ในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 83% ของความจุ อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักฯ มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่สถานการณ์ที่แม่น้ำปิง ณ สถานี P.16 อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ส่งสัญญาณที่ดีในการลดระดับลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง ส่งผลให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ จ.นครสวรรค์ จะเริ่มมีปริมาณลดลง ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน ณ สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำยังไม่สูงมากนัก ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่1,245 ลบ.ม./วินาที โดยจะใช้เวลา 1 วัน ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จุดหลักที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือบริเวณแม่น้ำน่าน เนื่องจากพื้นที่ของ อ.ชุมแสง มีปริมาณฝนตกมาก

ส่วนสถานการณ์น้ำบริเวณ สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดรวมของแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,683 ลบ.ม./วินาที โดยจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 1-2 วันข้างหน้า อย่างไรก็ตามจะไม่เกิน 2,820 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไม่ล้นตลิ่ง เนื่องจากปริมาณสูงสุดอยู่ที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที แต่อาจจะมีบางพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับตลิ่งต่ำ ซึ่งจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยจากแนวโน้มของเขื่อนเจ้าพระยา พบว่า ปริมาณน้ำจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 2-3 วัน โดยจะมีเร่งระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

“ขณะนี้ได้มีการปรับลดการระบายน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ทางฝั่งตะวันออกลงแล้ว เนื่องจากตอนท้ายน้ำมีปริมาณน้ำมากและไม่สามารถระบายน้ำได้ แต่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากมีน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ที่ระบายลงมาเพิ่ม ดังนั้น กอนช. จึงมอบหมายให้กรมชลประทานพิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ลง โดยจะมีบริหารจัดการเขื่อนป่าสักฯ ในการช่วยกักน้ำไว้ พร้อมกันนี้ กรมชลประทานจะต้องตัดยอดน้ำก่อนไหลเข้าสู่ จ.ลพบุรี ให้เข้าไปยังคลองระพีพัฒน์ เพื่อช่วยดึงน้ำระบายออกไปด้วย” นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี รวมถึงกรุงเทพฯ ที่ประชาชนเกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ปัจจุบัน ณ สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ที่เป็นบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นในอัตรา 2,750 ลบ.ม./วินาที ซึ่ง กอนช. ได้ประสานกรมชลประทานในการพยายามควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ไม่ให้เกินอัตรา 2,700-2,800 ลบ.ม./วิ โดยอีกประมาณ 1 วัน น้ำจะไหลเข้าสู่บางบาล-บางไทร ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยปริมาณน้ำที่บางบาล-บางไทร ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2,800-2,900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งไม่มากนัก โดยจะไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วินาที  

ขณะที่ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีประชาชนเป็นห่วงว่าจะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณทล เหมือนช่วง ปี 2554 ว่า กรมชลประทาน ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,700 ล้าน ลบ.ม./วินาที และน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาที่บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจุดนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำให้ไหล 3,500 ล้าน ลบ.ม./วินาที แต่ปัจจุบันมีปริมาณการไหลของน้ำเพียง 2,300-2,400 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งยังสามารถตัดน้ำเข้าทุ่งหรือพื้นที่รองรับได้อีก ดังนั้นจึงขอฝากแจ้งไปยังพี่น้องประชาชนว่าไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2554 เพราะในปีดังกล่าวประเทศไทยเจอพายุมา 4-5 ลูก แต่ปีนี้เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ให้ฟังประกาศจากผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เป็นระยะๆ