เมื่อวันที่ 4 เม.ย. เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152  ทั้งนี้ นายชยพล สะท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงเรื่องที่ดินกองทัพ ว่า ขณะนี้กองทัพบกมีพื้นที่ 4.5 ล้านไร่ มีเกินความจำเป็น จะเอาไปทำอะไรให้สมเหตุผลบ้าง ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง สั่งการนโยบายวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ให้กองทัพมอบที่ดินให้ประชาชน 9,276 ไร่ เป็นของขวัญให้ประชาชน ในโครงการหนองวัวซอโมเดล จ.อุดรธานี ดูแล้วน่าดีใจที่ชาวบ้านจะได้ที่ดิน แต่ปรากฏว่า เป็นสัญญาเช่า ทำให้ชาวบ้านไม่เอาด้วย เพราะชาวบ้านยืนยันว่าไม่ใช่ผู้บุกรุกที่ดิน เนื่องจากอยู่มาก่อนตั้งแต่ปี 2476 ก่อนที่ทหารจะมาขอแบ่งที่ดินไปทำสนามยิงปืน จากนั้นก็เคลมที่ดินทั้งหมดเป็นของตัวเอง ลำบากชาวบ้านต้องมาพิสูจน์สิทธิที่ดิน เป็นข้อพิพาทกันมาตลอด ดังนั้นกรณีหนองวัวซอโมเดล หากชาวบ้านยินยอมลงนามเช่าที่ดิน เท่ากับยอมรับเป็นผู้บุกรุกที่ดิน จึงขอให้ไปตรวจสอบสิทธิที่ดินให้ชาวบ้านก่อน

นายชยพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรณีที่ดินวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2496 มีการแบ่งพื้นที่ระหว่างสนามซ้อมยิงปืนของกองทัพ กับที่ดินของชาวบ้านอย่างชัดเจน แต่ต่อมา กองทัพขอเคลมพื้นที่เอาที่ดินชาวบ้านไปหมด แต่ยังมาบอกว่าใจดี จัดสรรที่ดิน 500 ไร่ ให้ประชาชนทำมาหากิน ทั้งที่ที่ดินเหล่านี้เป็นของชาวบ้านมาก่อน เอาสิทธิอะไรไปให้ ทั้งที่ไม่ใช่ที่กองทัพ สรุปนี่คือแซนต้าหรือตีนแมว อย่าเร่งทำโครงการเพื่อการโฆษณา ขณะเดียวกันยังมีโครงการสร้างหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง จ.ภูเก็ต ของกองทัพเรือ วงเงิน 721 ล้านบาท แต่รายละเอียดโครงการเกินครึ่งเป็นการก่อสร้างบ้านพัก และสาธารณูปโภค  ที่น่าสงสัยคือไปทำในพื้นที่ป่าสงวนบางขนุน โดยอาศัยจังหวะช่วงการเปลี่ยนระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2565 ที่ระบุการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนจากที่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นเป็นแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น เพื่อฮุบที่เป็นของกองทัพเรือ นี่คือการอ้างความมั่นคงเพื่อสร้างบ้านพักในป่าสงวนตากอากาศเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้พวกพ้องตัวเอง สะท้อนภาพทหารครองเมืองชัดเจน

นายชยพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรณีที่กองทัพเรือได้รับสัมปทานทำเหมืองหิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ปี 2556 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว กองทัพเรือไม่สามารถทำกิจกรรมประเภทโรงงานได้ ไม่รู้อนุญาตให้ทำได้อย่างไร ทราบว่าเป็นสมัยรัฐบาลยุคยิ่งลักษณ์ ช่วยฟันรายได้ 200 ล้านบาท จากโครงการนี้ แต่ด้วยความที่มีความผิดชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงชี้ว่ากองทัพเรือไม่สามารถดำเนินกิจการแข่งกับเอกชนได้ จึงถูกระงับกิจการและสั่งฟื้นฟูพื้นที่กลับสู่สภาพเดิม แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ขณะเดียวกันยังมีการทำกิจการไฟฟ้าที่ ต.แสมสาร ของกองทัพเรืออีก อ้างว่าเป็นพื้นที่ความมั่นคง แต่มาตรการให้บริการก็เกิดไฟดับบ่อยมาก อ้างความมั่นคงแต่เป็นความมั่งคั่งของตัวเอง แม้ชาวแสมสารจะไปยื่นหนังสือให้นายกฯช่วยเหลือ วันที่ 5 พ.ย. 2566 นายกฯ ก็เรียกกองทัพเรือมาหารือ ถ่ายรูปโฆษณาใหญ่โต แต่ปรากฏว่า อีก 1 สัปดาห์ต่อมากองทัพเรือไปปักป้ายไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ตกลงนายกฯ ไปคุยอะไรกับกองทัพเรือ

นายชยพล กล่าวว่า กองทัพเรือได้โครงการทำรันเวย์ที่ 2 กับเทอร์มินอลใหม่ของสนามบินอู่ตะเภา ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย และกองทัพเรือได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องระบบไฟฟ้า ประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบจัดการขยะ ระบบจัดการเชื้อเพลิง ของเมืองมหานครการบิน 6,500 ไร่ ล่าสุดทราบว่า รัฐบาลก็เล็งๆ ว่า จะก่อสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่มีบ่อนกาสิโน มาอยู่ในแหล่งกองทัพเรือบริเวณโซนนี้ รัฐบาลชุดนี้เข้าขากันดีกับกองทัพ รัฐบาลนี้โดยคู่หูดูโอ้ “ทินและฐา” ต้องเลิกทำโครงการแบบฉาบฉวย เพื่อคอนเทนต์โฆษณา เอาประชาชนเป็นเหยื่อการตลาด ขณะนี้ธุรกิจกองทัพมีมากมายก็ไม่รู้เมื่อไรจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ คงมีแต่แย่งกันช้อนเพราะมั่นคงอย่างมั่งคั่ง