เมื่อวันที่ 4 เม.ย. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) สั่งการให้ตำรวจ กก.5 บก.ป. นำกำลังตรวจค้นที่ตั้งของบริษัทต้องสงสัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของคนต่างชาติ ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 8 จุด รวม 17 บริษัท ตามหมายค้นของศาลอาญา ที่ 311-318/2567 ลงวันที่ 1 เม.ย. 67

โดยผลการตรวจค้นพบบริเวณชั้น 2 ของอาคารสำนักงานมีการจัดวางอุปกรณ์คล้ายสำนักงานไว้สำหรับจัดฉากเพื่อถ่ายภาพการทำงานเพื่อใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ ให้กับชาวต่างชาติ จึงได้ตรวจยึด 1.คอมพิวเตอร์สำหรับจัดทำเอกสารเท็จ และจัดเก็บข้อมูลลูกค้าชาวต่างชาติ จำนวน 2 เครื่อง, 2.ตราประทับบริษัทต่างๆ กว่า 50 บริษัท, 3.เอกสารต่างๆ จำนวนประมาณ 500 แผ่น

สืบเนื่องจากงก่อนหน้าที่ได้มีคนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับควบคุมโทรศัพท์ จากนั้นได้ดูดเงินจากบัญชีของผู้เสียหายโอนไปยังบัญชีของคนร้ายรวมกว่า 5 แสนบาท พบว่าคนร้ายได้โอนเงินไปยังบัญชีต้องสงสัยชายชาวรัสเซียคนหนึ่ง ก่อนจะพบว่าชายชาวรัสเซียดังกล่าวได้ทำรายการถอนเงินสดออกจากบัญชีผ่านธนาคารในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ในเวลาต่อเนื่องกัน

ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้รับมอบหมายจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของคนร้าย พบว่าการทำธุรกรรมของชายชาวรัสเซียคนดังกล่าว มีพฤติการณ์รับโอนเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี จากกระเป๋าดิจิทัลที่ไม่มีการยืนยันตัวตน (non-custodial wallet) จากนั้นจะมีการขายเหรียญจำนวนมากโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทยของตน และถอนเงินที่ได้ออกเป็นเงินสดโดยทันที

ในช่วงระหว่างวันที่ 7 ก.ค. 66-19 พ.ย. 66 พบว่าชายชาวรัสเซียคนดังกล่าว ได้มีการถอนเงินสดผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร และตู้ ATM จากบัญชีธนาคาร 3 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 186 ล้านบาท อย่างผิดปกติ เชื่อได้ว่าเป็นรูปแบบการฟอกเงินอย่างหนึ่ง จากการตรวจสอบหลักฐานการเปิดบัญชีพบว่า ชายชาวรัสเซียคนดังกล่าวได้แสดงหลักฐานใบอนุญาตทำงานยืนยันว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ภูเก็ต

ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าว ไม่มีการดำเนินกิจการอยู่จริง น่าเชื่อว่าได้จดทะเบียนขึ้นมาเพื่อใช้ในการสร้างเอกสารเท็จเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน และขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว (VISA) ให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ โดยบริษัทดังกล่าวมีกรรมการ และผู้ถือหุ้นเป็นผู้หญิงไทย จำนวน 2 คน และหญิงชาวรัสเซีย จำนวน 1 คน

นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทอื่นอีกรวมทั้งสิ้น 38 บริษัท เชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 2.ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัด หรือนิติบุคคลใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย (นอมินี)

สอบสวนหญิงชาวไทย 2 คน รับว่า ได้จัดตั้งบริษัทรับจ้างจดทะเบียนบริษัท, รับดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน, ดำเนินการขอ VISA ให้กับชาวต่างชาติ และยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ ให้กับชาวต่างชาติ โดยมีการจัดตั้งบริษัทที่ไม่ได้มีการดำเนินกิจการจริงขึ้นมา เพื่อใช้ในการสร้างเอกสารเท็จเพื่อยื่นขออนุญาตต่างๆ ให้กับชาวต่างชาติจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบรายละเอียดเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายกับคนไทยและชาวต่างชาติที่ร่วมกันกระทำความผิดต่อไป.